‘เอ็นเซิฟ’จ่อรื้อสัญญาขายไฟ เล็งเจรจาภาครัฐรับซื้อจากแหล่งกักเก็บพลังงานโซลาร์ฟาร์ม

16 มี.ค. 2560 | 11:00 น.
เอ็นเซิฟ เล็งเจรจากับกระทรวงพลังงาน รื้อสัญญาขายไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มใหม่ หลังเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บพลังงานเกิดขึ้นได้แล้ว ชี้ช่วยเป็นโรงไฟฟ้าฐานลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ตอบโจทย์การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่าไฟแค่ 6 บาทต่อหน่วย

นายธนชัช โพชนา ประธานกรรมการ บริษัท เอ็นเซิฟ กรุ๊ปฯ ผู้นำกลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า บริษัทเตรียมที่จะหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มใหม่ จากเดิมที่เป็นสัญญาที่ไม่มีความแน่นอน มาเป็นสัญญาที่แน่นอน เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีแหล่งกักเก็บพลังงานหรือ Energ Storage ขึ้นมาใช้งานได้แล้ว หากนำไปติดตั้งร่วมกับโซลาร์ฟาร์มจะทำให้การจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โครงการโซลาร์ฟาร์มสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้ง จะช่วยให้การพัฒนาทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิมที่พึ่งพาไม่ได้ จะกลายมาเป็นโรงไฟฟ้าฐานของประเทศ เหมือนกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และยังเป็นการลดการลงทุนของภาครัฐในการสร้างโรงไฟฟ้าฐานมารองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่พึ่งพาไม่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

หากกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มใหม่ ทางบริษัทก็จะขอแก้ไขสัญญาการซื้อขายในโครงการโซลาร์ฟาร์มในเครือของบริษัทที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันราว 257 เมกะวัตต์ มาเป็นสัญญาจ่ายไฟฟ้าที่มีความแน่นอนด้วย เนื่องจากขณะนี้เอ็นเซิฟอยู่ระหว่างการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กับ บริษัท เอ็นพาวเวอร์ เอ็นเนอร์จี ประเทศจีน เพื่อผลิต "พาวเวอร์คิวบ์ แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นแบตเตอรี่แบบเอเควียสไออน แบตเตอรี่ จากนวัตกรรมเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน สู่แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ที่เป็นการร่วมทุนกับบริษัท เอ็นพาวเวอร์ ของจีน ในสัดส่วน 51 % และ 49 % ตามลำดับ ใช้เงินลงทุนระยะแรกประมาณ 2,000 ล้านบาท ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีกำลงการผลิต 200 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี คาดว่าจะสามารถนำเข้าเครื่องจักรมาผลิตได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้

นายธนชัช กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ราคาค่าไฟฟ้าที่รับซื้อ จากแหล่งกักเก็บพลังงานนี้ อาจจะต้องสูงกว่าราคาค่าไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 4.12 บาทต่อหน่วย หรืออาจจะตกประมาณ 6 บาทต่อหน่วย เนื่องจากเป็นสัญญาที่จ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วยประหยัดเงินในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ยกตัวอย่าง หากจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 200 เมกะวัตต์ ก็จะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และยังช่วยลดการก่อสร้างสายส่งในระยะทางที่ไกลได้ด้วย

อีกทั้ง หากนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ออกมา เชื่อว่าจะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาพลังงานทดแทนของภาคใต้ที่มีปัญหาการคัดค้านอยู่ในเวลานี้ได้ เพราะที่ผ่านมาบริษัทได้คิดที่จะลงทุนทำโซลาร์ฟาร์มที่จังหวัดสงขลา แต่ติดปัญหาไม่มีสายส่งรองรับ หากโครงการโซลาร์ฟาร์มเกิดในพื้นที่ต่างๆ ของภาคใต้ได้ โดยใช้แหล่งกักเก็บพลังงานี้ ถือว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ 6 บาทต่อหน่วย น่าจะคุ้มกว่า การผลักดันให้โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติเกิดขึ้นมา

ส่วนการผลิต พาวเวอร์คิวบ์ แบตเตอรี่ ของบริษัทนั้น อย่างช้าสุดไม่น่าจะเกินต้นปีหน้า ซึ่งในช่วงแรกจะส่งออกไปประเทศเกาหลีก่อน เนื่องจากขณะนี้ได้ลงนามสัญญาขายให้กับโครงการโซลาร์ฟาร์มแล้ว 120 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี และกำลังจะทยอยลงนามให้ครบ 720 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในช่วงปีนี้ โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท รวมถึงอยู่ระหว่างการเจรจากับทางโซลาร์ฟาร์มในประเทศออสเตรเลีย ราว 200 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560