คลังล่อซื้อค้าออนไลน์ไม่จ่ายแวต

15 มี.ค. 2560 | 09:00 น.
สรรพากรเร่งพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ดักจับ-ล่อซื้อเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ หากพบไม่ออกใบกำกับแวต ผิดฐานเลี่ยงภาษีถูกสอบย้อนหลังโทษหนักคุก 7 ปี ปรับ 2 แสนปลัดคลังลั่นมีรูรั่วต้องจัดการไม่ให้รัฐสูญรายได้ ด้านทีเอชเอเสนอคุมแอร์บีเอ็นบีในต่างประเทศ ห่วงไม่เป็นธรรมภาษีธุรกิจโรงแรม

ระหว่างกฎหมายโครงสร้างภาษีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซโดยเฉพาะการแก้ไขประมวลรัษฎากรหรือร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ระหว่างการร่างเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในรัฐบาลปัจจุบัน นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ให้ความชัดเจนในข้อกฎหมายและนโยบายในเรื่องดังกล่าวว่าสามารถดำเนินการได้ทันที

ปลัดกระทรวงการคลังยอมรับว่า อี-คอมเมิร์ซและการค้าออนไลน์ หากมีการพัฒนาได้เต็มรูปแบบแล้วจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมหาศาล เบื้องต้นเน้นจัดเก็บในธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

โดยกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ที่เปรียบได้กับเป็นถังข้อมูลกลาง สามารถจับข้อมูลตลอดจนความเคลื่อนไหวการซื้อขายสินค้า เช่น กรณีมีเงินเข้าและออก ข้อมูลจะต้องเดินทางผ่านเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบซิงเกิล เกตเวย์แต่เป็นเซิร์ฟเวอร์ภายใต้การบริหารงานของกรมสรรพากรที่จะทำงานร่วมกับกรมศุลกากร ลักษณะหรือรูปแบบเทียบเคียงได้กับระบบของอี-เพย์เมนท์

ข้อดี คือ เมื่อเกิดการชำระเงินแล้วสรรพากรสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่ามาจากธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายไหนและมีรายได้เท่าไหร่ เป็นระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่โยงเข้ากับอี-คอมเมิร์ซ เป็นศูนย์กลางคอยมอนิเตอร์การชำระเงินที่เกิดขึ้นในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซหรือออนไลน์

นอกเหนือจากการพัฒนาเซิร์ฟเวอร์แล้ว เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลก็มีความสำคัญ เพื่อให้สามารถตรวจสอบรวมถึงดึงข้อมูลดังกล่าวมาใช้ในการพิจารณาในการจัดเก็บภาษี โดยได้มอบหมายให้กรมสรรพากรศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้ว

ปัจจุบันกรมสรรพากรได้มีพัฒนาโปรแกรมเพื่อติดตั้งโดยการเกาะไปกับเว็บไซต์ในกลุ่มเป้าหมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายสินค้า ว่าเมื่อมีการสั่งซื้อสินค้าแล้วโปรแกรมดังกล่าวสามารถตรวจจับได้จริงหรือไม่ กระบวนการดังกล่าวกรมสรรพากรจะลองเลือกซื้อสินค้าที่ขายอยู่ในเว็บไซต์ เมื่อได้สินค้ามาแล้วก็จะตรวจสอบว่า ทางเว็บไซต์ได้ออกใบกำกับภาษีจากร้านค้าออนไลน์แนบมาด้วยหรือไม่ หากไม่มีการให้ใบกำกับภาษีแล้วเว็บไซต์จำหน่ายสินค้าดังกล่าวก็เข้าข่ายถือเป็นความผิดในการหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งกรมสรรพากรจะทำการประเมินภาษีย้อนหลังอีกครั้ง

“คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกธรกิจ แนวทางการจัดระบบร้านค้าออนไลน์จะยึดเกณฑ์เดียวกันร้านที่เปิดขายสินค้าในระบบปกติ คือ มีรายได้ 1.8 ล้านบาท ขึ้นไปจะต้องไปจดทะเบียนเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม”

ขอยืนยันว่าแนวทางการจัดเก็บภาษีนั้นกรมสรรพากร จะยึดบนความถูกต้อง ใครเสียภาษีถูกแล้วก็ขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีการไล่บี้ แต่กลุ่มที่ต้องคิดใหม่คือ กลุ่มที่เคยหลบเลี่ยงภาษี ที่จะต้องเข้าสู่ระบบทั้งหมด

ทั้งนี้ โทษกรณีที่มีการหลบเลี่ยงไม่จ่ายภาษี Vat หากเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายาม หลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือ ใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกแล้ว ฐานความผิดมาตรา 90/4(1) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 ถึง 200,000 บาท

คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะมีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 5.7แสนราย เป็นใกล้เคียง 6แสนราย และภายใน 3-5ปี อาจขยายตัวเพิ่มเป็น 1ล้านราย มูลค่าการค้าในระยะใกล้ คือ ปี2560-2561 ใกล้เคียง 3-3.5แสนล้านบาทนะ โดยมีอี-คอมเมิร์ซที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจโดยใช้ฐานประเทศไทย ทั้งธุรกิจบริการขนส่งสินค้า ซึ่งมีกลุ่มจีน เกาหลี สหรัฐสนใจ ธุรกิจซื้อขายสินค้าและบริการ มีประเทศจีน เกาหลี ยุโรป ที่สนใจ เป็นต้น

 ทีเอชเอชงคุมแอร์บีเอ็นบี

นางสาวศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ทีเอชเอ อยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลการควบคุมการดำเนินธุรกิจของ Airbnb (แอร์บีเอ็นบี) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโฮมแชริ่งหรือการแบ่งปันบ้านหรือที่พักอาศัย เพื่อการปล่อยเช่าแก่นักท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ ว่ามีการออกกฏหมายหรือการควบคุมธุรกิจในลักษณะนี้อย่างไร รวมถึงจะนำประเด็นดังกล่าวร่วมหารือกับทางสมาคมโรงแรมต่างๆในภูมิภาคอาเซียน ในการประชุมAsean Hotel & Restaurant Association : AHRA ที่ประเทศมาเลเซีย ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอให้รัฐบาล ควบคุมและดูแลให้การดำเนินธุรกิจของแอร์บีเอ็นบีในไทยเป็นไปอย่างรัดกุมมากกว่าที่เป็นอยู่ เช่น ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียและยุโรป มีการควบคุมให้เจ้าของบ้านหรือที่พักอาศัย ที่ปล่อยเช่าผ่านแอร์บีเอ็นบี จะต้องลงทะเบียนให้ภาครัฐรับรู้ จึงจะสามารถนำไปขายผ่านระบบได้

“เราเข้าใจว่ารูปแบบของแอร์บีเอ็นบี ก็เป็นธุรกิจเกิดใหม่ เช่นเดียวกับอูเบอร์ จึงไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับ และเราไม่ได้ต้องการกีดกัน แต่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมให้รัดกุมมากขึ้น เราวิตกมากคือ เรื่องความปลอดภัยของลูกค้าและประเทศ เพราะรัฐบาลจะไม่รู้เลยว่ามีนักท่องเที่ยวรายใดเข้ามาพัก หรือถ้ามาแล้วมีปัญหาเกิดขึ้นจะตามได้อย่างไร จะกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของ” นายกฯ ทีเอชเอกล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายดิลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมเนอร์ โฮเทลส์ คิดว่าสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเริ่มต้นเข้าไปควบคุมแอร์บีเอ็นบี มีเกสต์เฮาส์บางแห่งที่ไม่ถูกกฎหมายและไม่จ่ายภาษี ไม่ดูแลพนักงาน พนักงานไม่ได้ถูกฝึกมาให้ดูแลลูกค้า ซึ่งกระทบกับประสบการณ์ของผู้เข้าพัก ท้ายที่สุดแล้วมันจะกระทบไปถึงประเทศ และโรงแรมอื่นๆ ด้วย

“อย่างเราลงทุนกับพนักงาน ลงทุนกับโรงแรม เราจ่ายภาษี มันควรจะต้องมีความเป็นธรรม และผมคิดว่าสำคัญที่จะต้องมีการให้ใบอนุญาตอย่างถูกต้องเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน”

นับจากแอร์บีเอ็นบี เปิดให้บริการมาตั้งแต่ ปี 2553 ก็พบว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 150% ต่อปี ปัจจุบันแอร์บีเอ็นบี มีห้องพักในระบบที่เปิดให้บริการแล้วกว่า 2 ล้านห้องใน 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการขยายตัวของธุรกิจนี้ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงรามโดยเฉพาะระดับกลางและล่าง ทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมในหลายประเทศ เริ่มออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมห้องพักประเภทนี้มากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น กำหนดระยะเวลาเข้าพักแอร์บีเอ็นบี ต้องมากกว่า 7 คืน ในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก กำหนดให้เจ้าของห้องพัก ที่ปล่อยเช่าผ่านแอร์บีเอ็นบี สามารถลงทะเบียนปล่อยเช่าห้องพักได้คนละ 1 ห้อง เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,244 วันที่ 16 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2560