14 มี.ค.นัดต้านยุบอบต. อปท.แนะทดลองนำร่อง-‘วัลลภ’สยบข่าวใช้ม.44

13 มี.ค. 2560 | 10:00 น.
เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศต้านควบรวมอบต. ประชุมใหญ่พัทยายื่นหนังสือค้านสนช. 14 มี.ค.นี้ ชี้ปัญหาซํ้าซ้อนทั้งงานและงบประมาณ “วัลลภ” แจงเพิ่มประสิทธิภาพลดเหลื่อมลํ้า ปฏิเสธข่าวสปท.เสนอใช้ม.44

ความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระเร่งด่วน เป็นประเด็นร้อน ที่ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) วิตกว่า เมื่อยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทั่วประเทศให้เป็นรูปแบบเทศบาล และควบรวมท้องถิ่นขาดเล็กเข้าด้วยกันแล้ว จะเกิดปัญหาในหลายด้าน

นายวัลลภ พริ้งพงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงเหตุผลของการควบรวม อบต.ทั่วประเทศ ว่า ประการแรก อบต.ขนาดเล็กซึ่งมีประมาณ 400 แห่ง มีโครงสร้างที่ไม่เอื้ออำนวยในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ให้ได้ประสิทธิภาพ เพราะมีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐต่ำกว่า 20 ล้านบาท ส่งผลให้การบริการประชาชนทำได้ไม่เต็มที่เพราะงบลงทุนไม่มี

ประการที่ 2 ในแง่ของความคุ้มทุนในการให้บริการประชาชน ถ้าอปท.มารวมกัน ความคุ้มทุนในการให้บริการจะมีมากกว่า ซึ่งเป็นปัญหาของความเลื่อมล้ำในการให้บริการ เพราะมีอบต.บางแห่ง มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐ 500 ล้านบาท ขณะเดียวกันมี อบต.ขนาดเล็กบางแห่งมีรายได้ไม่ถึง 15 ล้านบาท ทำให้เกิดปัญหาความเลื่อมล้ำของรายได้ ส่งผลถึงการเลื่อมล้ำในการให้บริการประชาชนด้วย

ประการที่ 3 เกิดปัญหาความเลื่อมล้ำของบุคลากร โดยเฉพาะด้านการศึกษา บางอบต.ไม่มีหัวหน้าศูนย์เด็กเล็กที่จบปริญญาตรี ซึ่งหน้าที่ของ อปท.ต้องดูแลตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ เด็กปฐมวัย จนถึงวัยชรา หากยังไม่มีความพร้อม ต่อไปอีก 4-5 ปีประชากรไทยจะเข้าสู่ภาวะสูงวัย ถ้าการบริหารไม่ได้ประสิทธิภาพ จะมีผลกระทบต่อการบริการ

ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ. และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อใช้อำนาจมาตรา 44 ให้มีการควบรวม อบต.ทั่วประเทศ ว่า ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้ และคงตอบไม่ได้ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นร่างกฎหมายที่บรรจุในวาระเร่งด่วนของสนช.อยู่แล้ว

ด้านนายนพดล แก้วสุพัฒน์ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)แห่งประเทศไทย ระบุว่า ในวันที่ 14 มีนาคม นี้ ทางสมาคมฯ จะจัดประชุมใหญ่ประจำปี ซึ่งหนึ่งในวาระที่จะมีการหารือ จะขอความเห็นเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อยื่นหนังสือแสดงความเห็นต่อตัวแทน สนช.ต่อไป

ทั้งนี้ ในการประชุมสมาคมฯ อบต.ที่ผ่านมา ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจาก ประการแรก ไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจ การควบรวมไม่ได้ทำให้รู้ว่ามีประสิทธิภาพอย่างไร เพียงแต่ลดรายจ่ายประจำ ทำให้อำนาจของรัฐมากกว่าอำนาจของประชาชนในท้องถิ่น

ประการที่ 2 กรณีจะปรับปรุงอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนจังหวัด (อบจ.)และเทศบาลไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หรือหน้าที่ระหว่างท้องถิ่นกับส่วนราชการ ดูเหมือนยังซ้ำซ้อน ไม่บอกชัดเจนว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาให้ประชาชน และประการที่ 3 การจัดตั้งกองทุนให้กระทรวงมหาดไทยไปบริหารกองทุน ไม่ถูกหลักเพราะเงินเป็นของท้องถิ่นแต่ผู้บริหารกลับเป็นมหาดไทย เป็นต้น

"ทางสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย ได้ฟังความเห็นจากประชาชน ในพื้นที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการควบรวม เพราะทำให้อำนาจประชาชนลดลง พื้นที่ตามชายขอบและยอดเขาอาจไม่มีพื้นที่ให้กลุ่มนี้เลย ทำให้เกิดความรู้สึกเลื่อมล้ำ เพราะคิดว่าถูกรัฐทอดทิ้ง ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงตามมาอีก"

สำหรับทางออกที่ สมาคม อบต.แห่งประเทศจะเสนอไปยังรัฐบาล อาทิ ขอให้ไม่ยุบรวม อบต.พร้อมกัน แต่ให้บูรณาการงานของท้องถิ่นที่มีความเก่งหรือเชียวชาญแต่ละด้านให้มารวมกันแทน และควรทดลองทำเป็นการนำร่องสักระยะหนึ่งก่อน

นายตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอในการแสดงความเห็นของ ผู้บริหาร อปท. เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านการควบรวม แต่ ไม่เห็นด้วยที่จะบังคับพร้อมกัน เพราะตัวร่างกฎหมายยังขาดการศึกษาวิจัย ในประเด็นเฉพาะ ประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องจำนวนพื้นที่ที่ห่างไกล จำนวนรายได้ จำนวนบุคลากร ทางออกที่ดีไม่ควรเร่งรีบในควบรวม จะยกฐานะ อบต.ได้ในพื้นที่ที่มีความจำเป็น ควรควบรวมที่มีศักยภาพ และเป็นไปตามความพร้อมมากกว่าการบังคับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560