ความรับผิดทางอาญา กรรมการผู้แทนนิติบุคคล กฎหมายใหม่ดีกว่าเดิมจริงหรือ (1)

13 มี.ค. 2560 | 12:00 น.
TP7-3243-B เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการแชร์ข้อมูลในไลน์เกี่ยวกับเรื่อง "พ.ร.บ.เดียว (กรรมการ)เสียวทั้งประเทศ" โดยบอกว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดโดยทันทีหมดสิทธิ์แก้ตัว และถ้ากรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องทำแล้วไม่ทำตามหน้าที่นั้นต้องรับผิดร่วมกันทั้งหมด แถมยังบอกว่าถ้าเป็นกรรมการต้องคิดให้ดีและควรมีนักกฎหมายเก่งๆ ไว้ข้างตัว

ความจริงแล้ว สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ. ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล) ซึ่งกฎหมายนี้ได้แก้ไขกฎหมายความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลให้เป็นประโยชน์ต่อผู้แทนนิติบุคคลมากกว่ากฎหมายเดิมหลาย ๆ ฉบับ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไปในฐานะที่ผมเป็นผู้บรรยายกฎหมายความรับผิดชอบทางกฎหมายของกรรมการแก่บรรดากรรมการที่ผ่านการอบรมของสถาบันกรรมการไทยหรือ IOD มาเป็นเวลานานกว่า 200 รุ่น และหลักสูตรกรรมการภาครัฐ (PDI)ของสถาบันพระปกเกล้ามาหลายรุ่น จึงอยากจะเขียนคำอธิบายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกรรมการและผู้บริหารได้รับทราบความเห็นที่ถูกต้องของกฎหมายดังกล่าวก่อนจะมีการเข้าใจผิดกันไปใหญ่

 หลักเกณฑ์ฟ้องร้อง: การดำเนินคดีอาญาต่อนิติบุคคล

เมื่อกล่าวถึงความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล มีความจำเป็นที่จะต้อง อธิบายเกี่ยวกับหลักกฎหมายอาญาและหลักความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นก่อน

โดยทั่วไปหากนิติบุคคลกระทำผิดกฎหมาย ก็จะมีการฟ้องคดีนิติบุคคล รวมทั้งจะมีการฟ้องกรรมการผู้มีอำนาจและกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นตัวการ ซึ่งแต่เดิมนั้นตำรวจหรืออัยการมักจะฟ้องปรับกรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลรวมทุกคน หรือจะมีการออกหมายเรียกไปยังกรรมการและผู้แทนนิติบุคคลเพื่อทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง หรือพิจารณาคดี ซึ่งในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดและต้องรับโทษจำคุก กรรมการอาจต้องรับผิดและติดคุกในฐานะที่เป็นตัวการ เนื่องจากตัวนิติบุคคลเองไม่สามารถถูกจำคุกได้

นอกจากนี้กฎหมายอาญามีหลักที่สำคัญคือ หลักสันนิษฐานความเป็นผู้บริสุทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดี (presumption of innocence) โดยการจะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิดและรับโทษทางอาญานั้นต้องมีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกฟ้องนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลปราศจากความสงสัยว่าบุคคลนั้นมีความผิดตามที่ฟ้องจริง (beyond reasonable doubt) เนื่องจากการลงโทษตามกฎหมายอาญาเป็นการลงโทษที่กระทบสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจำคุก ประหารชีวิต หรือแม้กระทั่งการปรับ การปฏิบัติกับผู้ถูกฟ้องเยี่ยงผู้กระทำความผิดโดยยังไม่แน่ใจว่าเขาได้กระทำความผิดนั้นลงจริงหรือไม่จึงเป็นสิ่งที่ไม่สมควรและจะทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนเกินควร โดยประเทศไทยก็ได้รับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 39 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550(*2) มาตรา 29 วรรค 2 แห่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559(*3) และมาตรา 227วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477(และที่แก้ไขเพิ่มเติม) (*4)

กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนนิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญาได้ทั้งการรับผิดโดยตรง และรับผิดร่วมกับนิติบุคคล ซึ่งการที่ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาโดยตรงนั้นมักจะเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ไว้ให้ผู้แทนนิติบุคคลนั้นปฏิบัติแต่กลับไม่ปฏิบัติตาม ในกรณีความรับผิดทางแพ่ง หากกรรมการของบริษัทไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ข้อบังคับ มติที่ประชุมคณะกรรมการ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหายตามกฎหมายแล้ว กรรมการก็ต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว

หลักการที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้แทนนิติบุคคลรับผิดทางอาญาร่วมกับนิติบุคคลนั้น กฎหมายของไทยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.ผู้แทนนิติบุคคลมีความรับผิดเด็ดขาด (ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดเสมอเมื่อนิติบุคคลนั้นกระทำความผิด พิสูจน์เป็นอย่างอื่นไม่ได้) เช่น มาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 26แห่งพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 (ฉบับแรกและฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2525)

กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้กรรมการหรือผู้แทนนิติบุคคลรับผิดเด็ดขาดกฎหมายจะบัญญัติในลักษณะมีดังนี้

มาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) บัญญัติว่า

"ในกรณีที่บริษัทจำกัดใดกระทำความผิดตามมาตรา 7ถึงมาตรา 24กรรมการของบริษัทนั้น หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทนั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท"

(*1) 1มาตรา 7 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) “ในการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดีที่นิติบุคคลเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้ออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคลนั้น ให้ไปยังพนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี”
(*2) 2มาตรา 39 วรรค 2 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด”
(*3) 3มาตรา 29 วรรค 2 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้”
(*4) มาตรา 227 วรรค 2 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2477 “เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,243 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2560