3ค่ายชิงดำอี-ทิกเก็ต1.7พันล. ‘บีทีเอส-ทรู-ฟอร์ท’เตรียมอวดระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์

10 มี.ค. 2560 | 03:00 น.
ขาใหญ่รถไฟฟ้า “บีทีเอส” เฉือนยักษ์โทรคมนาคม“ทรู” ชิงประมูลติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์รถเมล์ขสมก. มูลค่า 1,700 ล้านบาท กำหนดสาธิตระบบ 15-16มี.ค.และกำหนดเสนอราคา 27 มี.ค.60

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมาได้เปิดให้ยื่นเอกสารการประกวดราคาเช่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์(e-Ticket) หรือโครงการระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปติดตั้งรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำนวน 2,600 คัน วงเงินได้รับจัดสรร 1,786 ล้านบาทครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยในการเปิดขายซองเอกสารประกวดราคาเมื่อวันที่ 7 -16 กุมภาพันธ์ 2560 ปรากฏว่ามีผู้สนใจทั้งสิ้น 37 รายแต่มีผู้สนใจยื่นซองทั้งสิ้น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4-5 รายทั้ง 4 กลุ่มที่ยื่นเอกสารประกวดราคาจะคอนซอร์เตียมทั้งหมด

สำหรับระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการนี้จะนำไปติดตั้งบนรถเมล์โดยสารของขสมก. 2,600 คันเพื่อรองรับการให้บริการในอนาคตเพราะรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกรถเมล์ฟรี แต่สามารถปรับไปเป็นรถใช้สวัสดิการแทนผ่านระบบตั๋วโดยสารดังกล่าวซึ่งการติดตั้งแม้ว่าจะประสบปัญหาทางกายภาพบ้างโดยรถที่ขึ้นด้านหน้า ลงด้านหลังจะไม่มีปัญหามากเท่ารถที่ขึ้น-ลงช่วงประตูกลาง จึงต้องหาจุดติดตั้งให้เหมาะสมเนื่องจากจะมีทั้งการติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์และระบบหยอดเหรียญให้บริการ

โดยนโยบายเริ่มต้นวันนี้เพื่อรองรับการให้บริการในอนาคตนอกจากนั้นยังต้องติดตั้งให้สอดคล้องกับระบบไฟฟ้าอีกด้วย เนื่องจากระบบแบตเตอรี่อาจจะไม่มีความเสถียรภาพจึงต้องติดตั้งแบตเตอรี่เพิ่มอีกหนึ่งตัว รูปแบบบัตรเช่นเดียวกับบัตรแรบบิทของบีทีเอสที่จะต้องซื้อบัตรตามมูลค่าที่กำหนดไว้

“วงเงิน 1,786 ล้านบาทเป็นกรอบที่กำหนดไว้อาจจะมีการต่อรองขอปรับลดลงไปได้อีกบ้าง ให้สามารถใช้งานได้ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่รัฐบาลจะนำระบบตั๋วแมงมุมมาใช้งานกับระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งมวลชนอื่นๆด้วย”

ทั้งนี้เมื่อได้ตัวผู้รับจ้างจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีก 3-4 เดือนซึ่งขสมก.มีแผนจัดทำประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวนี้เฟสแรกจะต้องใช้ระยะเวลา 190 วันจึงใช้ช่วงระยะเวลาดังกล่าวไปประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อสร้างการรับรู้สู่ประชาชน โดยจะต้องมีการทดสอบระบบให้แน่ใจในประสิทธิภาพแล้วจึงจะนำเครื่องตัวอย่างที่ผ่านการทดสอบไปประชาสัมพันธ์โครงการต่อไป ดังนั้นเมื่อเปิดให้บริการผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกไม่จำเป็นต้องพกพาเงินสด แล้วยังมีส่วนลดพิเศษผ่านโปรโมชันรูปแบบต่างๆ อีกทั้งหากนำระบบเข้าไปร่วมกับบัตรแมงมุมตามนโยบายของรัฐบาลก็สามารถปรับระบบใช้งานได้ทันที

“ระบบบัตรโดยสารรูปแบบตั๋วร่วมแมงมุมสามารถปรับการใช้งานร่วมกันได้ทันทีเพราะมีการจัดทำสเปกรองรับไว้แล้ว ซึ่งในภาพรวมการใช้งานทั้งระบบขนส่งมวลชนตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมจะสามารถเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป”

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของขสมก. กล่าวว่าคณะกรรมการจัดประกวดราคาโครงการดังกล่าวที่ขสมก. แต่งตั้งขึ้นอยู่ระหว่างการเร่งพิจารณาคุณสมบัติ แล้วจึงจะเคาะราคาแข่งขันกันโดยกำหนดการสาธิตระบบในวันที่ 15-16 มีนาคม 2560 และกำหนดเสนอราคาในวันที่ 27 มีนาคม 2560 ซึ่งกลุ่มต่างๆที่ยื่นเอกสารประกวดราคา ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มบีทีเอส กลุ่มทรู กลุ่มฟอร์ท สมาร์ท เทรดดิ้ง ฯลฯ ล้วนมีศักยภาพทางธุรกิจได้แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะกลุ่มบีทีเอส จะจับมือกับบริษัท วิกซ์ เทคโนโลยีฯ ผู้นำระดับโลกด้านการออกตั๋วอัจฉริยะ และโซลูชันเทคโนโลยีการชำระเงิน ซึ่งดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมแมงมุม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560