ชงตั้งสนง.ดูแลยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ ยกระดับเอสเอ็มอีกว่า2แสนรายทั่วประเทศ

10 มี.ค. 2560 | 06:00 น.
สปท.เดินหน้าชงป.ย.ป. และครม ดันจัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ พัฒนายกระดับโลจิสติกส์ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี 2แสนรายทั่วประเทศ

นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานคณะทำงานโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดตั้ง"สำนักงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ"ต่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ขับเคลื่อนเรื่องโลจิสติกส์เมื่อครั้งที่อยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เป็นประธานอนุกรรมมาธิการโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้ได้หมดวาระไปแล้ว และขับเคลื่อนต่อไม่ได้ จึงต้องมาขับเคลื่อนต่อที่ สปท. จนมีมติออกมา 145 ต่อ 1 งดออกเสียง 6 เสียง คือเห็นด้วยโดยมติเอกฉันท์ ให้ผ่านรายงานเรื่อง "จัดตั้งสำนักงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ" ซึ่งในรายงานจะระบุว่าให้จัดตั้งขึ้นมานี้มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะนี้รายงานดังกล่าวกำลังจะส่งจากสปท.ไปยังคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) และเข้าครม.เป็นลำดับต่อไป

"ขณะนี้ได้ดำเนินการ ส่งรายงานด้านโลจิสติกส์ถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งชุดแล้ว และส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.)และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมถึงนายสมคิด จาติศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบถึงความจำเป็นในการจัดตั้ง สำนักงานโลจิสติกส์ฯ"

ทั้งนี้การตั้งสำนักงานโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติจะเกิดประโยชน์ตรงที่ ปัจจุบันอุตสาหกรรมโลจิสติกส์มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบมากถึง6 หน่วยงาน กระจัดกระจายอยู่ ไปคนละทิศคนละทาง และไม่เคยมีการบูรณาการร่วมกันว่า จะทำอย่างไร ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม ล้วนมีโลจิสติกส์กันหมดทุกกระทรวง โดยมีสภาพัฒน์ฯ เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์แต่ไม่มีสิทธิ์ไปกำกับดูแล ควบคุม และยังมีคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ(กบส.) แต่งตั้งโดยคสช.ให้มีหน้าที่กำกับดูแลเรื่องยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ แต่กบส. ก็มีการประชุมปีละครั้งทำให้การจัดการเรื่องต่างๆไม่ต่อเนื่อง

ดังนั้นการผลักดันให้ตั้งสำนักงานโลจิสติกส์ฯ โดยให้มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานจะขับเคลื่อนด้านต่างๆได้เร็ว และในรายงานฉบับนี้ได้เสนอให้มีตัวแทนจากภาคราชการ60% และเป็นภาคเอกชน40% จะแบ่งออกเป็น2 ส่วนโดย30%จะมาจากผู้ใช้และผู้ให้บริการโลจิสติกส์ อีก10% มาจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ก็จะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญ เอกชน และมีผู้ให้บริการโลจิสติกส์เข้าไปขับเคลื่อน และกำหนดว่าให้มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละครั้ง และในคณะกรรมการชุดใหญ่จะต้องมีคณะกรรมการชุดเล็ก ซึ่งมีภาคราชการ 60% และภาคเอกชน 40% เพื่อให้กรรมการชุดเล็ก เป็นตัวขับเคลื่อนการประชุม นำเสนอเรื่องต่างๆ ไปถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ โดยในชุดใหญ่นี้ มีการเสนอว่าให้ใช้สำนักโลจิสติกส์ของสภาพัฒน์ฯที่มีอยู่แล้ว มาทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ หรือเป็นผู้อำนวยการของชุดใหญ่

นายสายัณห์กล่าวอีกว่า จำเป็นต้องมีการผลักดันดังกล่าว เพื่อมากำหนดยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่อยู่ในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)มีจำนวนมากเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กมีมากกว่า 2 แสนรายทั่วประเทศ เมื่อมีสำนักงานโลจิสติกส์ฯ ขึ้นมาก็จะมาพัฒนายกระดับโลจิสติกส์ที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี และจะวางแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ และยุทธศาสตร์โลจิสติกส์ ที่เกี่ยวข้องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ การค้าชายแดน และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เป็นต้น

“เมื่อผลักดันได้สำเร็จต่อไป เมื่อมีการก่อสร้างถนนทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบินจะต้องผ่านมติที่ประชุมของสำนักงานโลจิสติกส์ฯก่อน ปัจจุบันนี้แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำกระจายไป ต่อไปตรงนี้จะเป็นศูนย์กลาง เมื่อมติอนุมัติ กระทรวงเจ้าของเรื่องก็ไปสร้างได้ แล้วก็มีคณะติดตามว่า สร้างจริงหรือไม่ อีกทั้งสำนักงานโลจิสติกส์ฯจะมีหน้าที่พัฒนาบุคลากรรองรับไทยแลนด์ 4.0 ด้วย”

ด้านนายสัญญวิทย์เศรษฐโภคิน นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์กระจายอยู่หลายกระทรวงจริง เมื่อรวมเป็นเอกภาพเดียวกันก็น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าจะควบคุมให้งานแต่ละเรื่องไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างไร และในคณะทำงานควรจะมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)รวมอยู่ด้วย และคณะทำงานจะต้องสมดุลทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในภาคเอกชนที่เข้ามาก็ไม่ควรอยู่ในบทบาทของการเป็นร่างทรงให้กับทุนต่างชาติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560