ทุนจีนไล่ซื้อรง.เหล็กเส้น โละเครื่องจักรเก่ามูลพิษสูง มาไทย

08 มี.ค. 2560 | 04:00 น.
กลุ่มทุนเหล็กเส้นจากจีนบุกไทย เดินสายไล่เจรจาขอเทกโอเวอร์และร่วมทุนโรงงาน ส.อ.ท.แฉต้องการระบายเครื่องจักรเก่ามลพิษสูง หลังจากโรงงานที่จีนถูกปิด ผู้ประกอบการหวั่นกระทบการแข่งขันด้วยต้นทุนตํ่ากว่า

จากกรณีที่รัฐบาลจีนได้มีนโยบายที่จะควบคุมการผลิตภายในประเทศ ไม่ให้ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำที่ได้รับผลกระทบและต้องปิดกิจการหรือลดการขยายกำลงการผลิตลงมา ส่งผลต่อกำลังการผลิตในประเทศหายไปกว่า 100 ล้านตันในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีกำลงการผลิตเหล็กเหลือเพียงประมาณ 800 ล้านตันต่อปีเท่านั้น

การปิดโรงงานเหล็กในจีนดังกล่าว กำลังเริ่มส่งผลมายังภูมภาคนี้ โดยเฉพาะไทยที่ขณะนี้ได้มีกลุ่ม ผู้ประกอบการของจีน ได้เข้ามาเจรจาขอเข้าซื้อโรงงานผลิตเหล็กเส้นหรือขอเข้าร่วมทุนแล้ว เพื่อที่จะนำเครื่องจักรของโรงงานที่ปิดไปแล้วมาใช้ทำประโยชน์ ซึ่งหากมีการเทกโอเวอร์หรือเกิดการร่วมทุนกันเป็นจำนวนมาก จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตเหล็กเส้นในปัจจุบัน ที่มีกำลังการผลิตราว 13 ล้านตันต่อปี แต่มีความต้อการใช้เพียง 3 ล้านตันต่อปีเท่านั้น ด้วยเหตุของต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าทำให้แข่งขันได้ลำบาก อีกทั้ง จะเป็นการก่อมลพิษให้กับประเทศเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเส้นมีความกังวล จะเป็นเรื่องของการนำเตาหลอมและเครื่องจักรเก่าจากจีนที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำเข้ามา เป็นการสร้างมลพิษให้กับประเทศมากขึ้น ประกอบกับโรงงานเหล็กของจีนที่ถูกปิดไปจะได้รับค่าชดเชยจากรัฐบาล ทำให้มีเงินทุนที่จะมาลงทุนนอกประเทศได้ โดยใช้เครื่องจักรเก่า ซึ่งจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า มาแข่งขันกับผู้ผลิตภายในประเทศ

ทั้งนี้ การไล่ซื้อกิจการโรงงานเตาหลอมหรือโรงงานรีดเหล็กเส้น จึงเป็นการลงทุนต่อยอด โดยนำเตาหลอมหรือเครื่องจักรเก่ามาก่อประโยชน์ในไทย เพราะหากจะลงทุนตั้งโรงงานใหม่จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก ซึ่งปัจจุบันในไทยมีโรงงานเตาหลอมเหล็กกว่า 10 ราย กำลงผลิตราว 5 ล้านต้น ขณะที่โรงงานรีดเหล็กเส้นมีมากว่า 60 ราย กำลงผลิตราว 13 ล้านตัน

ขณะที่กลุ่มทุนจีนบางกลุ่ม อยากจะนำเตาหลอมเหล็กประสิทธิภาพต่ำ เข้ามาตั้งโรงงานในไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการภายในประเทศมีความกังวลมาก เพราะจะเข้ามาแย่งตลาด เพราะปัจจุบันเองกำลังการผลิตก็ล้นตลาดอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ทางส.อ.ท.กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กำลงผลักดันที่จะให้ภาครัฐควบคุมการตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นอยู่ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทางคณะทำงานศึกษาแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กไทยอย่างยั่งยืน มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เป็นประธานก็ได้มีการหารือไปแล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะส่วนหนึ่งเกรงว่าจะไปขัดกับหลักเกณฑ์การค้าเสรี ขององค์การการค้าโลก(WTO)

แต่อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานฯได้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อมูลกำลังการผลิตและข้อมูลการใช้ของประเทศที่เป็นจริงนำมาประกอบ รวมทั้งข้อเสนอต่างๆ หากไม่สามารถห้ามตั้งโรงงานเหล็กเส้นได้ ทางออกควรจะเป็นอย่างไร และหลักเกณฑ์ของโรงงานที่ตั้งใหม่ควรจะเป็นอย่างไร เช่นโรงงานที่จะขอตั้งใหม่จะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไม่ใช่เป็นการนำเข้าเครื่องจักรมือ 2 จากจีน มาใช้ทำให้ก่อให้เกิดมลพิษ

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานผลิตเหล็กเส้นที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม จำนวน 60 โรงงาน มีกำลังผลิตรวมกันมากกว่า 13 ล้านตันต่อปี ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กเส้นในประเทศมีอยู่ไม่ถึง 3 ล้านตันต่อปี หากมีการตั้งโรงงานผลิตเหล็กเส้นใหม่เกินขึ้นอีก ก็จะทำให้เหล็กเส้นล้นตลาดมากขึ้น ในขณะที่กำลังการผลิตของผู้ผลิตรายเดิมก็ไม่สามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,242 วันที่ 9 - 11 มีนาคม พ.ศ. 2560