ไล่ฟ้องลูกหนี้หัวหมอ ธพว.ปรับแผนหลังคุย8ปีเหลว ‘ไอแบงก์’ชงลดทุนก่อนใส่เงิน

07 มี.ค. 2560 | 04:00 น.
เอสเอ็มอีแบงก์งัดไม้แข็งฟ้องลูกหนี้หัวหมอเตะถ่วงเจรจาหนี้ ลากยาว 8 ปี จนหมดอายุความ เผยฟ้องไปแล้ว 1 หมื่นราย วงหนี้ 8,000 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูฯปล่อยกู้ใหม่ 3.4 หมื่นล้านบาท กดเอ็นพีแอลให้ตํ่ากว่า 1.6 หมื่นล้านบาทฟากไอแบงก์ลุ้นผู้ถือหุ้นอนุมัติไอเอเอ็มรับบริหารแบดแบงก์

หนึ่งในแผนฟื้นฟูที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เร่งติดตามการแก้ไขปัญหา 2สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือเอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์) คือการแก้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธพว.ระบุว่าธนาคารจะเร่งสะสางเอ็นพีแอลในปีนี้โดยจะเข้มงวดกับลูกหนี้ที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือลูกหนี้ที่พยายามถ่วงเวลาในกระบวนการทางศาลซึ่งที่ผ่านมาพบว่าธนาคารต้องใช้เวลานานถึง 7-8 ปีหรือใช้เวลาประนีประนอมในชั้นศาลถึง 28 ครั้ง ทำให้สิทธิในการเรียกร้องของธนาคารเสียโอกาสเรื่องอายุความดังนั้นปีนี้จะเร่งกระบวนการฟ้องคดีกรณีหนี้เอ็นพีแอลให้เร็วกว่าที่ผ่านมา

ปัจจุบันธนาคารดำเนินการฟ้องคดีไปแล้วประมาณ 1 หมื่นคดีมูลหนี้รวมมากกว่า 8,000 ล้านบาทส่วนหนึ่งยังอยู่ในขั้นตอนเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในชั้นศาล ทั้งนี้เพื่อให้แผนปรับลดหนี้เอ็นพีแอลเป็นไปตามเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะต้องไม่เกิน 1.66 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ตามแผนธนาคารยังเน้นการปล่อยสินเชื่อทั้งปีให้ได้ 3.4 หมื่นล้านบาท ใน 3 กลุ่มประกอบด้วย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟต์โลน)ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวงเงิน 5,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ใน 3 ปีแรก ที่เหลือคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี(MLR)ปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 6.875% ต่อปีซึ่งสามารถผ่อนชำระสูงสุด 7 ปี สำหรับช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 หลังจากนี้ทยอยปล่อยสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2560

ขณะเดียวกันเร่งอนุมัติและให้เบิกจ่ายสินเชื่อแฟกตอริ่ง ซึ่งธนาคารรับซื้อลูกหนี้การค้า หลังส่งมอบสินค้าและบริการสูงสุดไม่เกิน 90% ของมูลหนี้ทางการค้า โดยคิดดอกเบี้ยอัตรา 3.99% ทั้งนี้ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วประมาณ 2,500 ล้านบาทเฉลี่ยวงเงินกู้ต่อรายที่ 3 ล้านบาท

ประเภทที่ 3 ธุรกิจรับเหมาภาคเอกชน และให้บริการคู่สัญญาภาครัฐ และสินเชื่อสมาร์ทเอสเอ็มอีบัญชีเดีย เน้นผู้ประกอบการรายบุคคลเช่น ร้านขายยา ร้านทอง ร้านแว่นตา และธุรกิจท่องเที่ยว คิดดอกเบี้ยอัตรา 5% ในปีแรก ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด12 เดือน ระยะเวลาในการกู้สูงสุด 10 ปี และนิติบุคคลทั่วไปที่จดทะเบียนตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยรวมทั้งธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ผลิต และให้บริการ อัตราดอกเบี้ยปีแรก5.99% ต่อปี และปีต่อไป MLR โดยบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ค้ำประกัน

นอกจากนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของธนาคารในปีนี้ มีแผนจะทยอยออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 2 จำนวน 575 ล้านบาทซึ่งจะทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(บีไอเอส)จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.8% จากสิ้นปีที่ผ่านมาบีไอเอสอยู่ที่ 11.2% โดยแผนออกหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2560

ด้านนายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ประธานกรรมการไอแบงก์กล่าวว่า แผนโอนหนี้เสียมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทไปยัง บริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (IAM) นั้น คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งตามแผนการโอนหนี้กระทรวงการคลังจะออกตั๋วสัญญาใช้เงินในราคา Book Value
ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นไอแบงก์ สัดส่วน 48.5%ธนาคารออมสิน 39% ธนาคารกรุงไทย 9%ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย

“เมื่อแยกโอนเอ็นพีแอลไปยังIAMแล้ว ไอแบงก์จะคงเหลือสินเชื่อคุณภาพราว 5 หมื่นล้าบาท และจะคงเหลือเอ็นพีแอลอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท จากนั้นกระบวนการต่อไป ไอแบงก์ต้องลดทุนก่อนที่กระทรวงการคลังจะจัดสรรเงินเพิ่มทุนเข้ามา ซึ่งจะทำให้บีไอเอสไม่ติดลบจากตอนนี้ติดลบอยู่ที่ 20% สำหรับแผนหาพันธมิตรเข้ามาเพิ่มทุนนั้นรัฐบาลอยากให้พันธมิตรใหม่ลงทุนทั้งหมด”

ปัจจุบันไอแบงก์อยู่ระหว่างพูดคุยกับกลุ่มทุนทั้งในเอเชียในประเทศไทยและตะวันออกกลางโดยหลักเจรจาเพื่อเฟ้นหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านชารีฮะห์ เพื่อสามารถบริหารจัดการกู๊ดแบงก์เติบโตต่อไปได้ โดยคนร.กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนปีนี้

นอกจากนี้ไอแบงก์ยังคงเดินหน้าแผนธุรกิจโดยตั้งเป้าขยายสินเชื่อคุณภาพราว 3 หมื่นล้านบาทและอยู่ระหว่างขอความเห็นจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)พิจารณายกเลิกกฎกำกับที่ไอแบงก์ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เกินกว่า 200 ล้านบาทและต้องได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยซึ่งไอแบงก์มีความพร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการมุสลิม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560