นิวบิซในคลื่นลูกที่สาม ธุรกิจใหม่ที่รอการค้นพบ

06 มี.ค. 2560 | 02:00 น.
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่กำลังขยับเข้าสู่ยุคดิจิตอล หรือดิจิตอลอีโคโนมีของไทยเป็นผลจากแรงผลักดัน 2 ด้านหลัก 1.กระแสโลก และ 2.ความพยายามไล่กวดการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลประยุทธ์ ด้วยการประกาศ ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 เมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมขับเคลื่อนนโยบายออกมาชุดใหญ่ เช่น แก้กฎหมายสนับสนุน 7 ฉบับ พัฒนาระบบพร้อมเพย์ วางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน ฯลฯ ช่วงปีที่ผ่านมาแรงผลักจาก 2 ด้านข้างต้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มพลิกตัวในหลายๆด้าน

1. ธุรกิจดั้งเดิมเริ่มประยุกต์ไอทีและนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและบริหารจัดการ หลายบริษัทเริ่มพัฒนาโครงการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเป็นกรรมาชีพแห่งอนาคต หรือ ภาคแบงก์ กลุ่มธุรกิจค้าปลีก เริ่มวางแผนลงทุนยกระดับด้านไอทีด้วยเงินลงทุนมหาศาล เพื่อต้อนรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง

2. ธุรกิจใหม่ หรือ นิวบิซ ปรากฏตัวในสนามธุรกิจ อย่างคึกคัก หนึ่งในตัวอย่างใกล้ตัว คือการเฟื่องฟูของธุรกิจอี-มันนี่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นจากธุรกิจสื่อสาร ค้าปลีก อี-คอมเมิร์ซทั้งในและต่างประเทศ กระโดดลงสนามแล้ว 55 ราย (รวม 3 ประเภทคือ ซื้อสินค้าจากผู้บริการรายเดียว/ซื้อสินค้าจากผู้บริการหลายรายใต้ระบบจัดจำหน่ายเดียว/ซื้อสินค้าจากผู้บริการหลายราย ไม่จำกัดสถานที่) จนทำให้เกิดการคาดเดาว่าในท้ายที่สุดแล้ว โฉมหน้า อุตสาหกรรมธนาคารซึ่งยืนหยัดมากว่าทศวรรษจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ตัวอย่างอีกกลุ่ม ในนามของนิวบิซเช่นกันคือ ธุรกิจบันเทิง มิวสิก สตรีมมิ่ง และ ดูหนังออนไลน์ เริ่มคลื่นตัวเข้ามาแทนที่ธุรกิจรูปแบบเดิมที่กำลังตกยุคในเร็ววัน

3. นิวบิซอีกสายพันธุ์ ........ “สตาร์ต อัพ” โดยเฉพาะกลุ่ม ที่พัฒนา “แอพ” หรือ แอพพลิเคชัน” ขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตคนปัจจุบัน ทุกวันนี้ แอพ กลายเป็นของคุ้นเคยบนหน้าจอ สมาร์ทโฟน หรือจอคอมพิวเตอร์ ของคนยุคปัจจุบันไปแล้ว (ดูตารางประกอบ) ที่น่าจับตาคือต่างชาติรุกเข้ามาแข่งเปิดแอพ ให้บริการมากมาย หลายราย เป็นที่นิยมคนไทย เช่น บริการจองโรงแรม และ ข้อมูล

แม้เหล่าสตาร์ตอัพผู้บุกเบิกมีตัวอย่างความสำเร็จน้อยแต่แนวโน้มนิวบิซยังสดใส ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวย สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ให้ความเห็นว่า ตามแผนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งให้ภาครัฐเปิดและแชร์ข้อมูลจะสร้างโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ เขายกตัวอย่างกรณี กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ รถสาธารณติดจีพีเอสทุกคันเปิดข้อมูลทั้งหมด จะเปิดโอกาสให้คนนำข้อมูลไปพัฒนาเป็นแอพ

อีกมุม นายอนุชิต อนุชิตานุกุล ประธานสายพัฒนาระบบงานช่องทางขาย และผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบการชำระเงิน แบบอิเล็กทรอนิกส์ แห่งชาติให้ความเห็น ว่าการมองหาธุรกิจใหม่ๆในยุคดิจิตอลควรจะดูจากโซเชียลมีเดียเพราะคนไทยอยู่ในนี้(โซเชียล)เยอะมาก โดยเน้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิงหรือ พักผ่อน

ตัวอย่างมุมมองข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสๆ ใหม่ ยุคดิจิตอล อีโคโนมี ที่รอการถูกค้นพบ

 มองดิจิตอลอย่างเศรษฐศาสตร์

[caption id="attachment_133189" align="aligncenter" width="500"] ดร.วีรไท สันติประภพ ดร.วีรไท สันติประภพ[/caption]

ดร.วีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวถึงเศรษฐกิจดิจตอลในมุมมองเศรษฐศาสตร์ไว้น่าสนใจว่า เศรษฐกิจยุคนี้เป็น Sharing economy (เศรษฐกิจแบ่งปัน) UBER บริษัทให้บริการรถสาธารณะใหญ่ที่สุดในโลกโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเป็นเจ้าของรถเอง หรือ Airbnb  ให้บริการจองห้องพักโดยไม่เป็นเจ้าของโรงแรม เขาชี้ว่าโลกจะเห็นการทำธุรกิจลักษณะนี้มากขึ้นพร้อมทั้งระบุว่า พัฒนาของเศรษฐกิจสมัยใหม่(แบ่งปัน) ส่งผลให้การลงทุนของโลกไม่โต ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทุกธุรกิจต้องปรับตัว หากไม่ต้องการตกขบวน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560