เอ็กโกจี้ปรับแผนพีดีพีใหม่ 2 โรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้า-10ปีอัดงบลงทุนเฉียดแสนล.

02 มี.ค. 2560 | 12:00 น.
เอ็กโก จี้กระทรวงพลังงาน ปรับแผนพีดีพีใหม่ เหตุโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 แห่ง ล่าช้า ดันบีแอลซีพีส่วนขยายเสียบแทนช่วยกระจายเชื้อเพลิง เบื้องต้นวางแผนใช้เม็ดเงินเฉียด 1 แสนล้านบาท ช่วง 10 ปี พัฒนา 11 โครงการ

ความล่าช้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด ขนาดกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ และแนวโน้มของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 870 เมกะวัตต์ ที่อาจจะไม่สามารถก่อสร้างได้ จากการต่อต้านนั้น กำลังส่งผลต่อแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ที่ต้องการให้เกิดการกระจายเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2579 อยู่ในระดับ 25 % จากปัจจุบัน 18 % และลดการใช้ก๊าซธรรมชาติลงมาเหลือ 37 % จากที่มีสัดส่วนอยู่ 64 %

ล่าสุดทางบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ได้ออกมายืนยันว่าทางกระทรวงพลังงาน ควรที่จะมีการทบทวนแผนพีดีพีใหม่ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยการบรรจุการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างเอ็กโกและบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เฟส 2 ขนาดกำลงการผลิต 1 พันเมกะวัตต์ เข้าไปอยู่ในแผน รวมทั้งส่วนขยายของโรงไฟฟ้าขนอม ขนาดกำลงการผลิต 500 เมกะวัตต์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่เกิดขึ้น

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับทางกระทรวงพลังงานไปแล้ว ที่จะขอให้มีการปรับปรุงแผนพีดีพีใหม่ เนื่องจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความล่าช้ากว่าแผนถึง 2 โครงการ กระทบกับการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหากนำโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี เฟส 2 เข้าไปบรรจุอยู่ในแผน จะทำให้เพิ่มสัดส่วนการใช้ถ่านหินเพิ่มได้

รวมทั้ง การบรรจุส่วนขยายของโรงไฟฟ้าขนอมเข้าไปอยู่ในแผนพีดีพี จะช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ได้ระดับหนึ่ง หากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่สามารถก็สร้างได้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ได้ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 โครงการการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอีเอชไอเอ ได้ผ่านการพิจารณาแล้ว

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการดำเนินงานของเอ็กโกหลังจากนี้ไปช่วง 10 ปี (2560-2569) จะยังคงเน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่บริษัทได้เข้าปักฐานการลงทุนแล้วไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่จ่ายไฟฟ้าแล้ว 4,122 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 โครงการ กำลังการผลิต 869 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างรอการโอนหุ้นอีก 128 เมกะวัตต์ ซึ่งในปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาทดำเนินการ ขณะที่โครงการใหม่ที่มีอยู่ในมือพร้อมจะพัฒนาในช่วง 10 ปี (2560-2569) แล้ว 4 โครงการ อยู่ในสปป.ลาว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการน้ำเทิน 1 ขนาดกำลังการผลิต 650 เมกะวัตต์ เอ็กโกถือหุ้น 25 % หากคิดตามสัดส่วนหุ้นจะใช้เงินลงทุราว 11,300 ล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งโครงการ 4.55 หมื่นล้านบาท และโครงการปากแบง ขนาดกำลังการผลิต 920 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 30 % ใช้เงินลงทุนราว 2.52 หมื่นล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งโครงการ 8.4 หมื่นล้านบาท

อีกทั้ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ สตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยายอีก 60 เมกะวัตต์ ประเทศอินโดนีเซีย บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 20.07 % ซึ่งจะใช้เงินลงทุนอีกราว 1,600 ล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 8,400 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ที่เวียดนาม ขนาดกำลังผลิต 1,210 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 30% จะใช้เงินลงทุนราว 2.54 หมื่นล้านบาท จากเงินลงทุนทั้งโครงการ8.47 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมเงินลงทุนทั้ง 4 โครงการนี้จะอยู่ที่ประมาณ 6.35หมื่นล้านบาท และหากรวมเงินลงทุนปีนี้ด้วยแล้วจะอยู่ราว 9.35 หมื่นล้านบาท โดยยังไม่รวมเงินลงทุนที่จะเข้าไปซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้า ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,240 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2560