'TPARK'โชว์ทำเลทองอีอีซี ยึดชลบุรี-ฉะเชิงเทราปักธงต้อนลูกค้าใช้โลจิสติกส์ครบวงจร

28 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
"ทีพาร์ค" เปิดทำเลทองคลังสินค้าในพื้นที่อีอีซีกว่า 3,000 ไร่ รองรับนักลงทุน มีโครงการที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอีกเพียบ

นายแทน จิตะพันธ์กุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์พาร์ค จำกัด (TPARK) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า TPARK เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ TICON ผู้ประกอบการให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยในส่วนของ TPARK ดำเนินธุรกิจพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ ในรูปของ "โลจิสติกส์พาร์ค"

ทั้งนี้หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีทำให้บริษัทหันไปให้ความสำคัญต่อการพัฒนาดินที่มีอยู่แล้วในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและชลบุรีมากขึ้น

ตามแผนธุรกิจที่กำลังจะประกาศในเร็วๆนี้ คาดว่าเบื้องต้นTPARK จะโฟกัสไปที่คลังสินค้าในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยกลุ่มไทยคอน(บริษัทแม่)มีพื้นที่รองรับการลงทุนเฉพาะในอีอีซีกว่า 3,000 ไร่ (จากที่มีที่ดินรองรับรวมทั้งหมดกว่า5,000 ไร่) เป็นพื้นที่ที่รวมคลังสินค้าและโรงงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและฉะเชิงเทรา สำหรับสถานะของคลังสินค้าในพื้นที่อีอีซีที่พร้อมรองรับทุนใหม่ที่จะเข้ามาใช้บริการนั้น มีความพร้อมตั้งแต่ที่ทีพาร์ค บางนา มีพื้นที่ 500 ไร่ พัฒนาเกือบหมดแล้วและเปิดให้เช่าแล้วเกือบ 100% ส่วนที่ทีพาร์ค บางปะกง ฉะเชิงเทรา มีที่ดิน 300 ไร่ ล่าสุดอยู่ระหว่างทำแผนพัฒนาเพื่อรองรับอีอีซี เช่นเดียวกับที่ทีพาร์ค พานทอง อยู่ติดกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร มีพื้นที่ 3 จุด พัฒนาไปแล้ว 1 จุด รอพัฒนาอีก 2 จุด ส่วนที่ทีพาร์ค ศรีราชา มีที่ดิน 300 ไร่ พัฒนาไปแล้ว 80% เป็นอีกจุดที่พร้อมให้บริการได้ทันที และทีพาร์ค แหลมฉบัง

2 มีที่ดิน400 ไร่ พัฒนาแล้ว70% รองรับการใช้งานได้ทันที ตรงนี้จะอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงทีพาร์ค อีสเทิร์นซีบอร์ด มีพื้นที่ 3 จุดพัฒนาไปแล้ว50%

"ที่ผ่านมาพื้นที่ฉะเชิงเทราเหมือถูกลืมไปนาน พอมีอีอีซี ทำให้ฉะเชิงเทรากลายเป็นพื้นที่ไฮไลต์"

สำหรับพื้นที่ที่ใช้เต็มไปแล้วคือ ทีพาร์ค บางพลี1 ทีพาร์ค บางพลี3 และทีพาร์ค วังน้อย1 รวมถึงทีพาร์ค อีสเทิร์นซีบอร์ด1(เอ) และทีพาร์ค อมตะนคร อย่างไรก็ตาม ทีพาร์ค อีสเทิร์น ซีบอร์ด3 ที่ชลบุรี ในอนาคตจะเป็นทำเลที่ดีมาก เพราะนิคมอุตสาหกรรมล้อมรอบทั้งปิ่นทอง WHA โรจนะ บ่อวิน"

อย่างไรก็ตามแผนธุรกิจปี 2560 ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงรอแผนขับเคลื่อนธุรกิจ 5 ปี ที่จะประกาศออกมาในเร็วๆนี้ หลังจากที่มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาคือบริษัท เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้โฮลดิ้งส์(ประเทศไทย) จำกัด(FPHT)อัดฉีดเงินเพิ่มทุนมูลค่า 1.32 หมื่นล้านบาทให้TICON ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหม่มีประสบการณ์จากออสเตรเลียในธุรกิจโลจิสติกส์อยู่แล้ว โดยธุรกิจนี้จะต้องมีสายป่านยาว การเพิ่มทุนที่ผ่านมาจึงเป็นยุทธศาสตร์ประการหนึ่งที่เราเตรียมความพร้อมไว้ เพราะธุรกิจต้องซื้อที่ดิน ต้องสร้างอาคาร โดยกู้เงินมาก่อนที่จะมีลูกค้าเข้ามา ถ้าไม่เตรียมความพร้อมก็จะไม่คล่องตัว

สำหรับผลดำเนินงานปีที่ผ่านมา มีการสร้างคลังสินค้าในพื้นที่ต่างๆที่มีอยู่แล้วเพิ่มขึ้นในขนาดที่หลากหลาย โดยมีลูกค้าที่เข้ามาเซ็นสัญญาเช่าพื้นที่ รวมราว 2 แสนตารางเมตร สิ่งที่ให้บริการลูกค้าคือ สร้างอาคารพร้อมใช้ให้ลูกค้าเข้ามาใช้ได้ทันที หรือกรณีที่ลูกค้าต้องการสร้างคลังสินค้าในรูปแบบของตัวเอง TPARK ก็มีทีมก่อสร้างพร้อมที่ดินให้เช่า อีกทั้งเป็นปีที่เข้าไปทดลองตลาดที่จังหวัดลำพูน และที่ขอนแก่น เพราะหลังจากที่พื้นที่รอบๆกทม.โตได้ระดับหนึ่งแล้ว ก็มองว่าการกระจายสินค้าน่าจะไปโฟกัสในต่างจังหวัดมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่บริษัทฯออกไปขยายพื้นที่คลังสินค้าเพิ่ม และพบว่าขอนแก่นน่าจะเป็นทำเลใจกลางภาคอีสาน และที่ลำพูนก็น่าจะเป็นพื้นที่กึ่งกลางภาคเหนืออยู่ใกล้จังหวัดเชียงใหม่จะรองรับการขนส่งภาคเหนือได้ ขณะนี้ที่ลำพูนเริ่มมีผู้เช่าเข้ามาแล้ว2 ราย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560