ปฏิวัติเศรษฐกิจดิจิตอล...ไทย เส้นทางอีกยาวไกล

26 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
ประกาศยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิตอลที่ เครือข่ายอัจฉริยะจะเข้ามามีบทบาทหลักในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เปรียบเหมือนการปฏิวัติสู่เศรษฐกิจดิจิตอลโดยช่วงปีเศษที่ผ่านมารัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายออกมาหลายชุด เช่นเดียวกับ ภาคธุรกิจตั้งแต่กลุ่มธุรกิจใหญ่ถึงเอสเอ็มอีที่เร่งแสวงหานวัตกรรมยกระดับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับมือกับคลื่นเศรษฐกิจใหม่ที่กำลังมาถึง แต่ทว่าการเคลื่อนตัวทั้งภาครัฐและเอกชนที่กล่าวมานั้นจะใช่การปฏิวัติเศรษฐกิจดิจิตอล หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือไม่ ? มาฟังความเห็นคนวงในกัน

1. นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) หรือ สรอ.

“ใช่ครับ ...ภาครัฐมาแรงมาก เช่น สตาร์ตอัพ รายได้ไม่ถึง 30 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี หรือ การจดทะเบียนการค้าคนเดียวได้ คือผู้ประกอบการจะมาเล่นบนดิจิตอลมากขึ้น หรือ ความช่วยเหลือเช่นแหล่งเงินทุนมีมากขึ้น แต่ทั้งหลายทั้งปวงคนไทยต้องเปลี่ยนวิธีคิด ต้องเปลี่ยนตัวเอง เฟซบุ๊กบอกว่าคนไทย 44ล้านคนเล่นเฟซบุ๊ก ออนไลน์วันหนึ่ง 5 ชั่วโมง เราเป็นประเทศที่ดูยูทูบอันดับต้นๆ คนไทยเอาชีวิตมาอยู่บนนี้ แต่จะทำอย่างไรจึงทำให้เกิดสิ่งที่สร้างสรรค์”

2.นายธีระนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และประธาน กสิกร บิซิเนส เทคโนโลยีกรุ๊ป

“ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจไทย ในความเห็นของผมคิดว่ายังไม่ถึงกับเรียกว่าเข้าสู่การปฏิวัติดิจิตอลแล้วนะครับ เรายังอยู่ในจุดเริ่ม ๆ แต่ยังไม่เข้าสู่การปฏิวัติเสียทีเดียว คือคนเริ่มมีความตื่นตัวในเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะข่าวสารต่างๆที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีมีให้เห็นได้ฟังอยู่ทุกวัน แต่ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลง แบบพลิกผันทางดิจิตอล (Digital Disruption)คนที่อ่านหรือฟังเรื่องเหล่านี้ อาจจะยังไม่สามารถหาความเชื่อมโยง กับตัวเองหรือธุรกิจได้ ว่ามันจะมีผลกับตนเองในแง่มุมใด ความเข้าใจยังอยู่ในกลุ่มคนที่ไม่กว้างนัก”

MP03-3239-B 3.นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริการสายงานดิจิตอล แบงกิ้ง และนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)

“มี2 ปัจจัยที่ทำให้เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลเต็มรูปแบบจริงๆไม่ใช่เฉพาะอุตสาหกรรมธนาคาร แต่เป็นเพราะ 1. โลกเข้าไปสู่จุดที่เป็น ดิจิตอล ทรานฟอร์เมชัน ถามว่าเต็มรูปแบบไหม มันก็น่าจะเต็มรูปแบบเพราะโครงสร้างพื้นฐานของระบบโทรศัพท์เรื่อง อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไว-ไฟ มันพอเข้าถึงมากขึ้น ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนให้แต่ละประเทศ แต่ละเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิตอลจริงๆ ประการที่ 2 สืบเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นส่วนผลักดันให้เทคโนโลยีหรือ ธุรกิจ จำเป็นต้องปรับตาม ”

4.นายอนุชิต อนุชิตานุกุล ประธานสายพัฒนาระบบงาน ช่องทางขาย และผลิตภัณฑ์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาคณะทำงาน พัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์

“ มันไม่ใช่สาระดิจิตอลแต่เป็นไร้สาระดิจิตอล คือคนไทยใช้ดิจิตอลอย่างไม่เป็นสาระ ผมถึงบอกว่า ใช่ และไม่ใช่ คือ เราใช้แต่ โชเชียลมีเดียไลน์ ใช้เสพข่าวลือ แชร์ โดยไม่คิด ใช้แต่ที่ไม่เป็นสาระ ผมวิเคราะห์คืออย่างนี้ เพราะฉะนั้นผมถึงตอบว่าใช่ไม่ใช่ หากเราดูในชีวิตประจำวัน เรื่องที่ไม่เป็นสาระ ดิจิตอล แต่ที่เป็นสาระกลับไม่ดิจิตอล เลย”

5. นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง

นายสมชาย ระบุว่า ปัจจุบันไม่ถือว่าประเทศไทยเข้าสู่การปฏิวัติดิจิตอล เพราะถ้าถึงขนาดนั้นต้องพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือชัดกว่านี้ ขณะนี้ประเทศไทยแค่เริ่ม หรือมีการโฟกัสเรื่องนี้เท่านั้น เช่นการที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เริ่มในเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล การโฟกัสในเรื่อง สมาร์ท ซิตี แต่ยังถือว่าห่างไกลกับคำว่า ปฏิวัติดิจิตอล ที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี

กล่าวโดยสรุป มุมมองข้างต้น ชี้ไปในทางเดียวกันว่า เราเพิ่งนับหนึ่ง การเข้าสู่การปฏิวัติดิจิตอล แม้สิ่งที่รออยู่ข้างหน้าท้าทายและยากจะคาดเดาแต่เราไม่มีสิทธิ์ถอย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,239
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ. 2560