พาณิชย์แจงกรณีเพล์ออล กรุ๊ป ไม่ส่งผลกระทบการส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

21 ก.พ. 2560 | 13:51 น.
พาณิชย์ แจงกรณีของ เพล์ออล กรุ๊ป ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยืนยันธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยยังคงเข้มแข็งและไปต่อได้อีกไกล เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมธุรกิจที่ชัดเจน เตือนผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซไทย หากต้องการเป็นผู้รับชำระเงินทางออนไลน์ต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

นางสาวบรรจงจิตต์  อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร้องทุกข์ บริษัท เพลย์ออล กรุ๊ป จำกัด ว่าประกอบธุรกิจให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มันนี่) โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งเสริมการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ของประเทศไทยนั้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่า ธุรกิจ อี-มันนี่ เป็นธุรกิจบริการชำระเงินทางออนไลน์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และเป็นธุรกิจที่มีส่วนสนับสนุนให้มีการใช้อี-คอมเมิร์ซ ได้อย่างสะดวก สมบูรณ์ ครบวงจร และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูล ณ ปัจจุบัน พบว่า ผู้ซื้อสินค้าทางออนไลน์ และผู้ประกอบธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทยส่วนใหญ่ยังใช้บริการการชำระเงินผ่านช่องทางออฟไลน์ เช่น การโอนเงินผ่านทางธนาคาร หรือ การเก็บเงินปลายทาง ซึ่งการที่ บจ.เพลย์ออล กรุ๊ป ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อสมาชิกของ เพย์ออล กรุ๊ป โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการชำระเงินทางออนไลน์ หรือ อีมันนี่ ในประเทศไทย ยังคงมีจำนวน 30 ราย ให้คนที่ทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเลือกใช้ได้

ส่วนในกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การส่งเสริมการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยหรือไม่นั้น กรมฯ ขอชี้แจงว่า กรณีของ บจ.เพลย์ออล กรุ๊ป จะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการการส่งเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่ชัดเจน เช่น การอบรมบ่มเพาะให้ความรู้เพื่อสร้างผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซรายใหม่ การยกระดับมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซด้วยการออกเครื่องหมายรับรอง DBD Registered และ DBD Verified และการเสริมสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ด้วยการจัดงาน Thailand e-Commerce Day  มหกรรมลดราคาสินค้าและบริการทางออนไลน์ (Thailand Online Mega Sale) และการประกวดเว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดีเด่น (Best e-Commerce Award)

นอกจากนี้ กรมฯ ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ เช่น สพธอ. อย่างใกล้ชิด โดยได้ร่วมกันกำหนดมาตรการการส่งเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยที่เป็นรูปธรรม รวมถึง การให้คำปรึกษาธุรกิจอี-คอมเมิร์ซแก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้สามารถก้าวสู่ตลาดระดับสากลได้

ทั้งนี้ ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน อี-มันนี่ในประเทศไทย มีบริการที่แยกตามการขออนุญาตจาก ธปท. 3 ประเภท คือ

1. บัญชี ก.ให้บริการเฉพาะของนิติบุคคลรายเดียว มีความเสี่ยงจำกัด เช่น บัตรเติมเงินศูนย์อาหาร กฎหมายยกเว้นให้ไม่ต้องขออนุญาต โดยต้องแจ้งให้ธปท.ทราบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ จำนวน 1 ราย

2. บัญชี ข. เป็นบริการอีมันนี่ที่ซื้อสินค้าของนิติบุคคลหลายราย สินค้าหลายประเภทแต่ยังจำกัด เช่น บัตรรถไฟฟ้า โดยต้องขึ้นทะเบียนกับ ธปท. ก่อนให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ จำนวน 7 ราย

3. บัญชี ค. ที่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และเงินที่ประชาชนเติมมาต้องห้ามนำไปใช้อย่างอื่น ต้องฝากธนาคารไว้เท่านั้น เพื่อจะให้บริการภายใต้นิติบุคคลหลายหลายและสามารถซื้อสินค้าได้หลายประเภทภายใต้ระบบการจัดจำหน่ายและให้บริการเดียวกัน เช่น เอ็มเพย์, บัตรแรบบิท เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 22 ราย