กฟผ.ยืนยันเทคโนโลยี USC ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ

21 ก.พ. 2560 | 13:05 น.
กฟผ. ยืนยัน เทคโนโลยี USC ที่ใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทันสมัย ประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน  และได้มาตรฐานในระดับสากล ใช้ถ่านหินน้อย แต่ให้ค่าความร้อนสูง นานาประเทศทั่วโลกต่างยอมรับ

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยัน โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด ซึ่งตามคำจำกัดความ IEA (Inter Nationalnal Energy Agency) หมายถึง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูง ปล่อย CO2 ในระดับต่ำ รวมทั้งสามารถกำจัดมลสารต่างๆ อาทิ ฝุ่นละออง ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือ ดักจับไอปรอทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ กฟผ. ใช้เทคโนโลยีแบบ Ultra Super Critical  หรือ (USC ) ซึ่งมีประสิทธภาพการเผาไหม้สูง ประหยัดการใช้เชื้อเพลิง เป็นผลให้ลดการปล่อย CO2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20   ประกอบกับมีระบบกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (SCR) ระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิตย์ (ESP) ระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (FGD) และระบบดักจับสารปลอด(ACI) จึงถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดตามมาตรฐานสากล ตามนิยามของ IEA ที่ หน่วยงานกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (USEPA) และนานาชาติ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ให้การรับรองว่า เป็นระบบกำจัดมลสารที่เป็นมาตรฐานสากล มีการใช้งานกันแพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ 35 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศกลุ่มยุโรป (OECD) จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย และอาฟริกาใต้

ส่วนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนแบบ Carbon Capture and Storage  หรือ (CCS)  ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนา ยังไม่สามารถใช้งานได้จริง รวมทั้งยังมีข้อจำกัดอีกหลายประการ อาทิ ต้องมีโพรงในชั้นหินใต้ดิน หรือใต้ทะเลที่มีความมั่นคงแข็งแรง และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลออกมาได้  ซึ่งปัจจุบันยังไม่ปรากฎชัดเจนว่า มีพื้นที่บริเวณใดที่มีการยืนยันว่า สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาวได้โดยไม่มีการรั่วไหล และที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์การรั่วไหลของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบ CCS มาแล้ว เช่นที่เคยเกิดเมื่อปี ค.ศ.2008 ที่เนเธอร์แลนด์ ระบบ CCS จึงยังไม่เป็นระบบกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมาตรฐานสากล

โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด USC ที่ใช้กันทั่วโลก และมีการปล่อยมลสารต่ำ จึงได้มาตรฐานสากลเป็นที่ยอมรับของกลุ่มสถาบันการเงินที่เน้นสิ่งแวดล้อมอย่าง ธนาคารโลก (WB) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)  ธนาคารเพื่อการพัฒนาอิสลาม (IDB) ธนาคาระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาแอฟริกาใต้ (AFDB) และสถาบันการเงินชั้นนำอื่นๆ  ที่อนุมัติให้กู้เงินลงทุนได้ โดยเฉพาะเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินระบบ USC ขนาดกำลังผลิตมากกว่า 500 เมกะวัตต์ขึ้นไปอีกด้วย

“กฟผ. เลือกสรรเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันสำหรับโรงไฟฟ้า ภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ.  เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดของการผลิตไฟฟ้า และมีความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน” โฆษก กฟผ. กล่าวในที่สุด