คสช.ไฟเขียวใช้ ม.44 รวดเดียว 2 ฉบับ แก้ปัญหางานบุคคลใน อปท. -รุกที่สาธารณะ

21 ก.พ. 2560 | 10:33 น.
คสช.เห็นชอบให้ใช้คำสั่ง ม.44 รวม 2 ฉบับ หวังแก้ปัญหาขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและปัญหาบุกรุกที่สาธารณะ ด้าน นายกรัฐมนตรี สั่งการเจ้ากระทรวงเร่งสางงานค้าง 10-20 ปี เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั้งระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเฉพาะการสอบบรรจุพนักงาน เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การนำข้อสอบออกมาขายให้แก่ผู้สมัครสอบ, การจัดทำข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน,การแยกสนามสอบทำให้เกิดความสิ้นเปลืองงบประมาณ

“คสช.จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้มีคณะกรรมการกลางของแต่ละหน่วยงานขึ้นมาดูแล สอบรวม มีเปเปอร์เดียว สอบพร้อมกัน ทำอย่างนี้การเรียกเก็บค่าต๋งจะสามารถตรวจสอบได้”พล.ต.สรรเสริญ กล่าวและว่า

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทุจริตเรื่องการปรับย้ายที่มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ผู้ที่จะย้ายสมัครใจ หน่วยงานต้นสังกัดยินยอมและหน่วยงานที่รับโอนยินยอม ซึ่งพบว่า มีการวิ่งเต้นเนื่องจากหน่วยงานต้นสังกัดไม่ปล่อยตัวให้ไปโดยให้อำนาจคณะกรรมการกลางพิจารณาให้ย้ายได้เป็นกรณีไป อีกเรื่องเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะจนส่งผลให้กลายเป็นแหล่งเสื่อโทรมบริเวณคลองลาดพร้าว คลองสอง และคลองเปรมประชากรโดยใช้รูปแบบปทุมธานีโมเดล คือ การออก พ.ร.ฎ.ให้แปลงที่สาธารณะเป็นที่ราชพัสดุแล้วให้ชุมชนรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์มาขอเช่าพื้นที่จัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย แต่กรณีนี้เป็นที่ราชพัสดุอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องขอยกเว้นในบางกรณี เช่น การกำหดวามสูงของอาคาร แต่ไม่ทำให้เสื่อมเสียต่อสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการกำชับให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงทุกกระทรวงเร่งสะสางงานคั่งค้าง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมากระบวนการร้องเรียน การติดขัดในการดำเนินธุรกิจของประชาชนซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนที่ คสช.จะเข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ กระทั่งรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกฯ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาต่างๆไปได้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ดีกฎหมายฉบับดังกล่าวสามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ขณะที่เรื่องราวร้องทุกข์ในอดีตนั้นหลายเรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังเป็นปัญหาคาราคาซังมาถึงวันนี้ บางเรื่องเป็นปัญหามามานานกว่า 10-20 ปี ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ไม่ทราบ

“วันนี้นายกฯจึงสั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงไปไล่บี้กับกำลังพลที่เป็นข้าราชการในแต่ละกระทรวง เนื่องจากอาจจะยังไม่ทราบว่า มีเรื่องใดที่ยังเป็นปัญหา มีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนค้างคาอยู่อีกบ้าง ไปแคะเรื่องราวเหล่านั้นมา หากหยิบขึ้นมาได้ก็เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปได้ แต่ถ้ายังไม่ทราบว่า มีเรื่องนั้นเกิดขึ้นก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้”

ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างโรงงาน (ใบ รง.4) ซึ่งก่อนที่รัฐบาลจะเข้ามานั้น พบว่า มีการขอใบอนุญาตการจัดตั้งโรงงานค้างอยู่กว่า 3,000-4,000 การขออนุญาต เมื่อเข้ามาแล้ว ได้มีการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดตั้งการขอใบอนุญาตแบบวันสต็อปเซอร์วิช รวมถึงการออกพ.ร.บ.อำนวยความสะดวก เพื่อให้ขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆสั้นและกระชับขึ้นโดยปัจจุบันได้ดำเนินการไปเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงการเรื่อง การขอ อย.ของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆที่ค้างอยู่กว่า 2,000 ใบก็ได้รับการแก้ไขไปแล้วเช่นกัน โดยไม่ต้องเดินทางมาขออนุญาตที่ส่วนกลาง สามารถขอในจังหวัดนั้นๆได้เลย รวมถึงการออกสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ จากการสำรวจ พบว่า มีเรื่องค้างอยู่ประมาณ 20,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 12,000 ราย เป็นผู้ที่จดสิทธิบัตรแล้วในต่างประเทศ แต่หากจะดำเนินการขั้นตอนต่อไปในไทยนั้นจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 30 ปี เป็นต้น โดยล่าสุดได้ใช้คำสั่ง ม.44 แก้ปัญหาเรื่องนี้ไปได้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ก็ต่อเมื่อทราบว่ามีเรื่องต่างๆเหล่านี้อยู่ ดังนั้นวันนี้นายกฯจึงกำชับให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงลงไปตรวจสอบเรื่องภายในกระทรวงของตนเองแล้วนำเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนว่ามีเรื่องใดที่ค้างคาอยู่จะได้นำมาแก้ปัญหาให้ตรงจุด