‘ถ่านหิน นิวเคลียร์ น้ำมัน’แบบไหนดี?

24 ก.พ. 2560 | 00:00 น.
TP20-3238-C เป็นที่ถกเถียงกันมาทุกยุคทุกสมัย ถึงรูปแบบของพลังงานว่าแบบไหนที่เหมาะกับประเทศไทย เราจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน หรือจะเป็นนิวเคลียร์กันดี ประเด็นเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นประเด็นเปราะบางที่ชวนให้คนไทยมาทะเลาะกันได้ทุกยุคทุกสมัยจริงๆ

การผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งเหล่านี้ ต่างมีผลดีและความเสี่ยงต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้ไฟฟ้าของประเทศนั้นๆว่าต้องการความมั่นคงทางด้านพลังงานมากแค่ไหน ความมั่นคงทางพลังงานก็คือ การที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากประเทศอื่นๆ การมีพลังงานที่ต้นทุนต่ำ และมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการใช้ของประเทศ สำหรับประเทศไทย เมื่อไหร่ที่เราทะเลาะกับพม่า ตีกับลาว เมื่อนั้นไฟฟ้าเมืองไทยก็คงดับกันค่อนประเทศครับ..!

ในประเทศอุตสาหกรรมหลักๆของโลก ทั้งในยุโรป และอเมริกา รวมไปถึงญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ เหล่านี้ แหล่งที่มาของพลังงานในประเทศส่วนใหญ่มาจากนิวเคลียร์ และถ่านหินกันทั้งนั้น ส่วนใหญ่จะเลี่ยงไม่ใช้พลังงานที่ผลิตจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นั่นเป็นเพราะอะไร?

ถ้าหากเปรียบเทียบโครงสร้างของราคากระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งทั้ง 3 คือ 1. น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 2. ถ่านหิน และ 3. นิวเคลียร์ ก็จะเห็นว่า การผลิตกระแสไฟฟ้าจากนิวเคลียร์นั้นจะมีความผกผันของราคาเชื้อเพลิงจากราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้ต่ำที่สุด รองลงมาก็คือถ่านหิน และที่แพงที่สุดก็คือน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

ผมกำลังจะบอกว่า ในโครงสร้างราคาไฟฟ้าที่ผลิตจากนิวเคลียร์นั้น เป็นค่าใช้จ่ายในด้านการก่อสร้างและการจัดการคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของโครงสร้างราคาไฟฟ้า ส่วนที่เหลือประมาณ 15-20% เท่านั้นที่เป็นราคาของเชื้อเพลิง ซึ่งก็คือยูเรเนียม

นั่นหมายความว่า ราคายูเรเนียมในตลาดโลกนั้น จะแพง หรือถูก ก็จะไม่กระทบต่อราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้เท่าไหร่นัก เพราะมีสัดส่วนอยู่ในโครงสร้างของราคาเพียง 15-20% เท่านั้นถือว่า การผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มีความมั่นคงทางราคามากที่สุด แต่คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา มักจะกลัวคำว่า “นิวเคลียร์” กัน ทั้งๆที่มีการใช้กันทั่วโลกอยู่แล้ว

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นมีโครงสร้างของเชื้อเพลิงต่อราคาถูกรองลงมาจากนิวเคลียร์ ถ้าหากผมจำไม่ผิด น่าจะอยู่ที่ราวๆ 30-40% ของโครงสร้างราคา ดังนั้นถ้าหากราคาถ่านหินในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงก็จะกระทบต่อราคาไฟฟ้าแพงขึ้นมาจากนิวเคลียร์ แต่ไม่มากนัก แต่ข้อด้อยของถ่านหินนั้นก็คือ การถูกมองว่าเป็นพลังงานที่สกปรกที่สุด ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย ต่างจากนิวเคลียร์ ที่ถือว่าเป็นพลังงานสะอาดที่สุด เพราะไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแต่อย่างใด

สุดท้าย คือการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เมืองไทยใช้กันอยู่มากที่สุดนี่ล่ะครับ สัดส่วนโครงสร้างของราคาเชื้อเพลิงที่น้ำมันผลิตกระแสไฟฟ้า นั้นสูงถึง 80% ของโครงสร้างราคาทีเดียว นั่นหมายความว่า ราคาน้ำมัน ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกจะมีผลต่อราคาไฟฟ้าที่ผลิตได้สูงมาก เมื่อไหร่น้ำมันแพง ก๊าซธรรมชาติแพง ราคาไฟฟ้าก็จะแพงหูฉี่ไปด้วย

อีกทั้ง ยังถือว่าการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมัน และก๊าซธรรมชาตินั้นยังสร้างความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศด้วยเพราะในตลาดโลกนั้นราคา และกลไกของราคาน้ำมันถูกควบคุมด้วยผู้ส่งออกไม่กี่ประเทศเท่านั้น นอกจากนั้น การผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังถือว่าเป็นพลังงานไม่สะอาดเพราะจะทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศที่สูงมาก

ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า พลังงานที่มีความมั่นคงมากที่สุด และสะอาดที่สุด ก็คือนิวเคลียร์ครับ จึงไม่แปลกว่าเพราะเหตุใดที่หลายประเทศพัฒนาแล้วต้องกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์กัน ตัวอย่างเช่นญี่ปุ่น หลังเหตุแผ่นดินไหว สึนามิถล่ม จนทำให้เกิดวิกฤติที่โรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เมื่อเดือนมีนาคม 2011 นั้น ญี่ปุ่นได้สั่งระงับการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ทั้ง 52 แห่งทั่วประเทศ และต้องนำเข้าน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแทน ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าต่างประเทศมหาศาลครับ มีเพียงช่วงหลังๆนี่เองที่สถานการณ์ดีขึ้นมาหน่อย เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลง

แต่นายกรัฐมนตรี ชินโซะ อาเบะ ก็ประกาศลั่นที่จะกลับมาใช้นิวเคลียร์อีกทั้งหมด และเริ่มกลับมาเดินเครื่องโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางแห่งกันบ้างแล้วครับ

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้พยายามที่จะแสดงถึงการสนับสนุนการใช้พลังงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ต้องการชี้ให้เห็นเพียงข้อดี-ข้อเสียของพลังงานแต่ละประเภทเท่านั้น และที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เป็นการกล่าวถึง “พลังงานหลัก” เท่านั้นนะครับ ส่วนพวกแหล่งพลังงานสำรอง เช่นพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล หรือ พลังงานลม ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ก็ยังมีราคาต่อหน่วยที่แพงมาก และก็ยังไม่มีความเสถียรพอที่จะใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของชาติได้ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560