แบงก์ดิ้นรักษาสเปรด ปี59ส่วนต่างดอกเบี้ย 3.15% จับตาแข่งฝาก-สินเชื่อดันต้นทุน

22 ก.พ. 2560 | 10:00 น.
แบงก์-ศูนย์วิจัย ชี้ ส่วนต่างดอกเบี้ยทรงตัว เหตุสินเชื่อโต-เงินฝากขยับ ด้าน "ทีเอ็มบี" เชื่อธนาคารเตรียมปรับงบดุลเร่งปล่อยสินเชื่อ ถล่มแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษ ห่วงเครดิตคอร์สคุมไม่อยู่ "กสิกรไทย-ธนชาต" ย้ำเห็นธนาคารโรลเอาต์เงินฝาก-หันปล่อยกู้ดอกสูง บริหารส่วนต่าง

แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปีนี้ยังทรงตัวอยู่ในระดับเฉลี่ย 2.6% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อน เนื่องจากระบบธนาคารพาณิชย์มีการบริหารจัดการได้ค่อนข้างดี ทั้งปรับดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ให้สอดคล้องกัน 2 ขา โดยผลกระทบในเชิงตลาดปีนี้ จะเห็นเกมธุรกิจของธนาคารเปลี่ยนไป โดยจากทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและเอกชนเริ่มหันมาใช้สินเชื่อธนาคารแทนการออกหุ้นกู้ที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากแนวโน้มเงินไหลออกอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การแข่งขันเชิงเงินฝากจะกลับมา ซึ่งจะเห็นสัญญาณการออกแคมเปญเงินฝากประจำพิเศษในช่วงไตรมาสที่ 2 และการปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารพาณิชย์เตรียมจะปรับงบดุล (Balance Sheet) หรือเตรียมปล่อยสินเชื่อ และการระดมเงินฝากประจำพิเศษที่เร็วเพื่อมารองรับการปล่อยสินเชื่อ แม้ดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จะเห็นดอกเบี้ยแคมเปญเงินฝากขึ้นก่อน

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การที่ธนาคารระดมเงินฝากไม่ใช่สภาพคล่องไม่เพียงพอ แต่สภาพคล่องไปอยู่ในสินทรัพย์ประเภทกองทุน ประกัน และหุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งดึงกลับมาไม่ยากหากมีการปรับผลตอบแทนเงินฝากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารคงไม่ได้เร่งสร้างรายได้ดอกเบี้ยในภาวะที่ผลตอบแทนต่ำ แต่จะเน้นสร้างรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยแทน หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ แต่การบริหารต้นทุน (Cost to Income Ratio) ของธนาคารมีอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ต้นทุนดอกเบี้ยที่มาจากเงินฝาก 2.ต้นทุนที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย จะเป็นต้นทุนหลังบ้าน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน ค่าจ้างพนักงาน และ 3.ต้นทุนเครดิต ซึ่งเป็นต้นทุนที่ธนาคารบริหารไม่ค่อยได้ เนื่องจากแนวโน้มการตั้งสำรองยังคงมีอยู่ตามเอ็นพีแอลที่มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน Cost to income Ratio ทั้งระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50%

"ผลกระทบเชิงตลาดปีนี้จะเป็นการแข่งขันเงินฝากที่รุนแรงขึ้น แม้ว่าดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเงินกู้ทั้ง MLR, MRR,MOR จะวิ่งตามดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคงอยู่ที่ 1.5% ปีนี้น่าจะเห็นการเติบโตสินเชื่อที่ 6% และเงินฝากขยับบวก 4.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 3% ส่วน NIM คงไม่มีประเด็นเพราะแบงก์จะขยับดอกเบี้ยฝากและกู้พร้อมกัน 2 ขา"

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ใน 10 ธนาคารพาณิชย์ค่าเฉลี่ย NIM อยู่ที่ 3.15% คาดว่าทั้งปีจะอยู่ที่กรอบ 3-3.15% ซึ่งไม่ได้แตกต่างจากปีก่อนและอดีตมากนัก ขณะที่การเติบโตสินเชื่อและเงินฝากจะปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน โดยสินเชื่อจะขยายตัวได้ 4% จากปีก่อน 2.4% กรอบประมาณการอยู่ 3-5% โดยจะเริ่มเห็นผลตอบแทน (Yield) ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับสินเชื่อรายย่อย ทำให้รายได้ของธนาคารดีขึ้น แต่จากอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนในด้านระดมเงินทุนเงินฝากจะแพงขึ้น โดยปีนี้คาดว่าเงินฝากจะเติบโตอยู่ที่ 3-5% ซึ่งจะเห็นการออกเงินฝากระยะกลางและยาวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ธนาคารจะหันมาให้ความสำคัญกับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ (CASA) เพื่อช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ย แต่ปัจจุบันหลายธนาคารมีสัดส่วนเงินฝาก CASA ค่อนข้างสูง แต่สิ่งจะเห็นที่เปลี่ยนไป คือ การออกโปรดักต์เงินฝากมาชดเชยเงินฝากที่ครบกำหนด ซึ่งจากเดิมธนาคารจะไม่เน้นต่ออายุหรือออกโปรดักต์ทดแทน สะท้อนถึงการบริหารต้นทุนของธนาคาร และการเตรียมสภาพคล่องไว้รองรับการเติบโตสินเชื่อ

"ปีนี้ NIM คงไม่แตกต่างจากอดีตมากนัก เพราะเงินฝากและเงินกู้สุทธิใกล้เคียงกัน แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวสูง แต่ผลตอบแทนเงินฝากก็เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสมดุลกันหากดูอัตราเฉลี่ย 3.15% ถือว่าไม่ได้ลดลง"

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ตอนนี้แนวโน้มดอกเบี้ยถึงจุดต่ำสุดแล้ว แต่จะปรับขึ้นเร็วและแรงมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในและภายนอก ทำให้ในอดีตที่เคยเห็นส่วนต่างดอกเบี้ยในกรอบกว้างๆ ปีนี้อาจจะเห็นกรอบ NIM ทรงตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของธนาคารในเรื่องของสมดุลเงินฝากระยะสั้นและระยะยาว หรือการปล่อยสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงได้มากน้อยแค่ไหน เช่น เงินฝาก CASA จะช่วยให้ NIM ไม่ปรับตัวแคบมาก แต่ถ้าลูกค้าฐาน CASA โยกเงินฝากไปเงินฝากประจำเยอะ จะทำให้ต้นทุนการเงินสูง ส่งผลให้สัดส่วน NIM ปรับแคบลงได้

"ภาพใหญ่ดอกเบี้ยกำลังปรับขึ้น แต่ตอบไม่ได้ว่าจะขึ้นเร็วหรือช้า แต่นิมที่เคยกว้างๆ จะเริ่มแคบลง ส่วนแบงก์จะมีนิมกว้างหรือแคบขึ้นอยู่กับการบริหารเงินฝากและสินเชื่อของแต่ละแห่ง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560