ทุนไฮเทคปักธงอีอีซีได้สิทธิ์จูงใจ

21 ก.พ. 2560 | 05:30 น.
บีโอไอมั่นใจมีเครื่องมือขับเคลื่อนดีที่สุดในภูมิภาค หลังประเมินต่างชาติสนใจกว่า 700 ราย ด้านพีทีทีจีซีประกาศ นำร่องลงทุน 1 แสนล้านบาท นักลงทุนตื่นรับอีอีซี เตรียมแห่ยื่นขอส่งเสริม ผลิตอุตฯไฮเทค

นโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีต้องการส่งเสริมให้ภาคตะวันออกกลับมาเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่เชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ยกระดับไทยเป็นฮับการผลิตการค้าโลก

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จัดงานสัมมนาและนิทรรศการ “Opportunity Thailand” สร้างโอกาสแห่งอนาคตของไทยและภูมิภาคมีนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วมกว่า 700 คน

นางหิรัญญา สุจินัย  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอกล่าวว่า การลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่ขณะนี้มีเครื่องมือใหม่ดึงดูดนักลงทุนที่ถือว่าดีที่สุดในภูมิภาคประกาศออกมาแล้ว อย่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับแก้ไขใหม่ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล10 ปี และสามารถขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการได้อีก 1-3 ปี รวมแล้วสูงสุดไม่เกิน 13 ปี รวมถึงยกเว้นอากรนำเข้าเพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนา เช่น วัสดุต้นแบบ สารเคมี พืชหรือสัตว์ เป็นต้น และ3.ปรับเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ตามคุณค่าของโครงการ สำหรับกิจการผลิตทั่วไปที่ได้สิทธิตามหลักเกณฑ์ปกติ ถ้าลงทุนเพิ่มด้านพัฒนาเทคโนโลยีหรือพัฒนาบุคลากร จะให้เพิ่มค่าใช้จ่ายดังกล่าวเพื่อนำมารวมเป็นมูลค่าภาษีที่ได้ยกเว้น จากเดิม 100% เป็น 200% และหากเป็นค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนาให้เพิ่มเป็น 300% เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งจะได้ยกเว้นภาษีเงินไดนิติบุคคล 15 ปี สำหรับกิจการไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีการผลิตวัสดุขั้นสูง และดิจิตอลเทคโนโลยี และมีเงินจากกองทุนวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือกพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้านของกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วย ดังนั้น จากเครื่องมือดังกล่าวจะจูงใจให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเขามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีทีทีโกลบอลเคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี เปิดเผยว่า การที่บีโอไอมีมาตรการส่งเสริมต่างๆ ออกมา จะช่วยให้เกิดแรงจูงใจดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในส่วนของพีทีทีจีซี ก็มีการตัดสินใจเข้าไปลงทุนในอีอีซีในช่วง 5 ปี(2560-2564) วงเงิน 1 แสนล้านบาท และจะสามารถลงทุนในช่วง 1-2 ปีนี้ได้ทันทีราว 5 หมื่นล้านบาท

ด้านท่าทีกลุ่มทุนต่างชาติล่าสุดนางสาวรัชนี วัฒนวิศิษฐ์พร กงสุล (ฝ่ายส่งเสริมการลงทุน)(ผู้อำนวยการระดับต้น) สำนักงานเศรษฐกจิ การลงทนุ ณ นครแฟรงก ์เฟิร์ต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีดูแล 9 ประเทศในโซนยุโรป เปิดเผย ว่า หลังจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยชัดเจนขึ้น ทำให้มั่นใจว่าปี 2560 เฉพาะในส่วนที่รับผิดชอบจะดึงทุนจากยุโรปได้มากขึ้น จากที่ปีที่แล้วดึงเม็ดเงิน ลงทุนเข้ามาไทยได้ราว 37,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเกิน 40,000 ล้านบาท โดยประเมินจากที่ล่าสุดมีกลุ่มทุนรายใหญ่เข้ามาติดต่อแล้วหลายราย

ทั้งนี้กิจการที่ติดต่อเข้ามา เช่น ศูนย์ซ่อมอากาศยานและชิ้นส่วนเครื่องบิน ที่มีแผนลงทุนในอีอีซี ,การผลิตรถยนต์ฟ้าหรือรถอีวี จากเยอรมัน มีแผนจะเข้ามาดำเนินการในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยโครงการนี้จะผลิตอุปกรณ์เก็บไฟฟ้าเอง สำหรับใช้ในรถอีวี คาดว่า 2 โครงการนี้ ต้องใช้เงินทุนรวมกันเกิน 3 หมื่นล้านบาท ส่วนอีก 2 โครงการจะทำเรื่องศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ โดยใช้ที่ดินกว่า300ไร่ ถ้าเข้ามาในลักษณะเป็นศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพโดยศูนย์นี้จะต้องมีพยาบาล มีสระว่ายน้ำสำหรับการบำบัด มีอุปกรณ์และ เครื่องมือแพทย์ เช่น ถ้าป่วยเป็นอัลไซเมอร์ หรือเข่าเสื่อม จะบำบัด ดูแลอย่างไร

นางสาววรวรรณ นรสุชา นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนระดับชำนาญการพิเศษ ประจำการสถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ เครือรัฐออสเตรเลีย กล่าวว่า ตั้งเป้าดึงทุนจากออสเตรเลียมาไทยปี2560 โดยจะรักษาระดับไม่ให้มีมูลค่าเงินลงทุนน้อยกว่าปีที่ผ่านมาที่มีเงินลงทุนในไทยราว 2 หมื่นล้านบาท โดยโฟกัสไปที่ อุตสาหกรรมเกษตรไฮเทค มีเรื่องการวิจัยและพัฒนาและไบโอเทคโนโลยี รวมถึงกิจการบริการ โดยเฉพาะกิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ(IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศเทศ(ITC)ที่ทุนออสเตรเลียก็สนใจเข้ามาไทย

ด้าน นางสาวอารีย์งามศิริพัฒนกุล กงสุล(ฝ่ายส่งเสริมการลงทุน) (ผู้อำนวยการระดับต้น)สำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ นครเซี่ยงไฮ้ และนายพิสุทธิ์ โชติอำไพกรณ์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนระดับชำนาญการพิเศษ ประจำการสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกวางโจ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันเปิดเผยว่า ปี2559 จีนมีมูลค่าเงินลงทุนในไทยสูงขึ้นเป็นอันดับ 3 หรือจำนวนจำนวน 32,537ล้านบาท ฉะนั้นถ้าเทียบเปอร์เซ็นต์แล้วสูงขึ้นมาก ปี2560 สำนักงานบีโอไอที่จีนตั้งเป้าว่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนรวมราวประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

สำหรับสำนักงานที่เซี่ยงไฮ้ ล่าสุดมี 4 โครงการที่มายื่นคำขอส่งเสริม หนึ่งในนี้มีผู้ผลิตยางรายใหญ่จากซานตง เงินลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท และการผลิตหุ่นยนต์ และกลุ่มที่ผลิตชิ้นส่วนวาล์วที่ใช้ต่อกับท่อส่งนํ้ามันก็เป็นอีกรายใหญ่จากเซี่ยงไฮ้โครงการเหล่านี้บีโอไอยังไม่ได้รับอนุมัติแต่ยื่นคำขอส่งเสริมมาแล้ว การลงทุนเหล่านี้(อ่านประกอบหน้า 26) แนะไทยชิงจังหวะสร้างโอกาสฮับซ่อมบำรุงอาเซียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560