โฆษกรัฐบาลยืนยันควบคุมตัวแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าตามขั้นตอนกฎหมาย

18 ก.พ. 2560 | 06:19 น.
รัฐบาลยืนยันควบคุมตัวแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าตามขั้นตอนกฎหมาย ชี้ละเมิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ วอนสังคมมองภาพใหญ่ประเทศ ย้ำแผนก่อสร้างรัดกุมไม่กระทบสิ่งแวดล้อม แจงปาล์มน้ำมันต้นทุนสูงดันค่าไฟพุ่ง

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวแกนนำผู้ชุมนุมคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินบริเวณทำเนียบรัฐบาล จำนวน 3 คน ว่า เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะแม้เจ้าหน้าที่จะพูดคุยเพื่อเจรจาให้ยุติการชุมนุมหรือให้ไปชุมนุมในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายตั้งแต่เมื่อวานนี้ แต่ไม่เป็นผล ผู้ชุมนุมกลับใช้กำลังกดดันเจ้าหน้าที่และแสดงเจตจำนงที่จะปักหลักชุมนุม พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมเพิ่มเติมด้วย

“พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มีรายละเอียดที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ผู้ที่ประสงค์จะชุมนุมต้องปฏิบัติตามขั้นตอนอย่างไร และทำเนียบรัฐบาลก็เป็นพื้นที่ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ได้จัดสถานที่สำหรับการชุมนุม เพื่อให้เกิดความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยในวันที่ 20 ก.พ.นี้ ศาลแพ่งได้นัดไต่สวนผู้จัดการชุมนุม ตามที่เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุม เพราะมีการทำผิดเงื่อนไข”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า รัฐบาลอยากให้สังคมมองภาพใหญ่ของประเทศหรืออนาคตของพี่น้องประชาชนในภาคใต้ โดยอย่ามองเรื่องการคัดค้านเพียงอย่างเดียว เพราะมีประชาชนอีกไม่น้อยที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการขนส่งถ่านหินจะไม่กระทบเส้นทางเดินเรือประมงและการท่องเที่ยว และยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากลเพื่อป้องกันมลพิษสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี

“ส่วนข้อเสนอให้ใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น กระทรวงพลังงานยืนยันว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มสูงถึง 8.42 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับน้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือน้ำมันปาล์มแพงกว่าน้ำมันเตาถึง 4.64 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากใช้น้ำมันปาล์มเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิตจะผลิตไฟฟ้าได้ 2,400 ล้านหน่วยต่อปี แต่จะทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปีเช่นกัน

โดยปัจจุบันมีเพียงโรงไฟฟ้ากระบี่เท่านั้นที่ใช้น้ำมันเตาผสมกับน้ำมันปาล์มในการผลิตไฟฟ้าได้ แต่ยังไม่สามารถนำน้ำมันปาล์มเพียงอย่างเดียวเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้โดยตรง การใช้น้ำมันปาล์มผลิตไฟฟ้าจึงควรเป็นมาตรการชั่วคราว เช่น กรณีวิกฤตไฟฟ้าจากการปิดซ่อมท่อก๊าซธรรมชาติ หรือช่วงที่ภาคใต้ขาดแคลนไฟฟ้าฉุกเฉินเท่านั้น”