2 บิ๊กนิคมฯเด้งรับอีอีซีหมื่นล้าน

16 ก.พ. 2560 | 12:00 น.
2 บิ๊กนิคมอุตสาหกรรม อมตะ,ดับบลิวเอชเอ เปิดแผนลงทุนรวมหมื่นล้าน แห่พัฒนาพื้นที่เด้งรับอีอีซี ทั้ง2 ค่าย เผยยังมีที่ดินรองรับอีกเพียบ ประสานเสียงเร่งพ.ร.บ.อีอีซีคลอดจะเป็นเครื่องยนต์ปลุกลงทุนไทยกระหึ่มอีกครั้ง

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economics Corridor Development )หรืออีอีซี หนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งความหวังว่าจะเป็นการปลุกการลงทุนรอบใหม่ เบื้องต้นน้ำร่องก่อน 3 จังหวัด(ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง) โดยตัวนโยบายและกฎหมายมีความคืบหน้ามาตามลำดับ

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจปฏิกิริยาผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 2 ค่ายใหญ่ (กลุ่มอมตะและดับบลิวเอชเอหรือกลุ่มเหมราชเดิม) ที่มีที่ดินมากที่สุดในพื้นที่อีอีซีในขณะนี้ถึงความพร้อมในการพัฒนาพื้นที่รองรับคลื่นการลงทุนรอบใหม่นับจากนี้ไป อีกทั้งความคืบหน้าของท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กลุ่มอมตะมีพื้นที่ที่ยังไม่พัฒนากว่า 1 หมื่นไร่ แบ่งเป็นที่ดินที่อยู่ในอมตะนคร (ชลบุรี)7,000-8,000 ไร่ ตรงนี้มีจุดเด่นคือใกล้สนามบินและกทม. และที่อมตะซิตี้ (ระยอง) จำนวน 2,000-3,000 ไร่ จุดเด่นคือใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี2560 ต้องเตรียมรับมือกับการลงทุนในพื้นที่อีอีซีตามนโยบายรัฐบาล โดยจะดึงพื้นที่ออกมาพัฒนาก่อนเฟสแรกประมาณ 3,000 ไร่ การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะต้องใช้งบในการลงทุนตั้งแต่ 2,000-3,000 ล้านบาท ที่จะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เป็นการรองรับการลงทุนที่จะเข้ามาใหม่ในพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนตามมาอีกนับหมื่นๆล้านบาท โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไฮเทคมากขึ้น และอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนใหม่ เมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่อีอีซีก็จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด

"สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่ภายใต้ข้อแม้ที่ว่าพ.ร.บ.อีอีซีจะต้องประกาศใช้ให้เร็วที่สุด ถ้าจบภายในไตรมาสแรกนี้ยิ่งดีต่อการลงทุน จะปลุกการลงทุนให้คึกคักขึ้นอีกครั้ง ล่าสุดพ.ร.บ.อีอีซีอยู่ในขั้นตอนกฤษฎีกา จากนั้นต้องเข้าพิจารณาในสนช.ลำดับถัดไป"

ปัจจุบันกลุ่มอมตะมีพื้นที่ที่พัฒนาไปแล้วตั้งแต่เริ่มกิจการจนถึงปัจจุบันรวมราว 4 หมื่นไร่ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาใช้พื้นที่ เฉพาะที่ชลบุรีมีโรงงานที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่แล้วกว่า 700 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์กว่า 50% ส่วนการลงทุนในอมตะซิตี้ ที่จังหวัดระยอง ปัจจุบันมีโรงงานแล้ว 300 บริษัท เป็นทุนญี่ปุ่น 30% จีน20% และไทย 16% ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้ง2นิคมอุตสาหกรรม มีโรงงานในพื้นที่แล้วกว่า 1,000 บริษัท

เช่นเดียวกับที่ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวถึง แผนการลงทุนปี 2560 ว่า เตรียมเงินลงทุนไว้จำนวน 7,000 ล้านบาท โดย 5,000 ล้านบาท จะใช้สำหรับพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ของลูกค้าในพื้นที่อีอีซี โดยเตรียมพัฒนาพื้นที่ราว 4,000 ไร่ และเตรียมสร้างอาคารตามรูปแบบของลูกค้าประมาณ 2 แสนตารางเมตร ซึ่งการลงทุนจริงในพื้นที่จะเห็นผลในปี 2561 ส่วนอีกจำนวน 1,600 ล้านบาทจะเป็นการลงทุนด้านพลังงานในนิคมอุตสาหกรรม และอีก 400 ล้านบาท จะไปลงทุนด้านดิจิตอล เช่น ลงทุนด้านไฟเบอร์ออพติก ด้านดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นฐานขึ้นระบบคลาวด์ เพื่อมาซัพพอร์ตลูกค้าในพื้นที่ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามเวลานี้มีที่ดินอยู่ในมือราว 1 หมื่นไร่ ที่อยู่ระหว่างพัฒนาและที่พัฒนาแล้ว และเป็นที่ดินที่ดับบลิวเอชเอ ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอแล้ว และได้วิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)แล้ว เมื่อลูกค้าต้องการก็พร้อมขายได้ทันที อยู่ที่ลูกค้าว่าต้องการที่ดินหรือโรงงานสำเร็จรูป หรือต้องการให้ ดับบลิวเอชเอสร้างโรงงานตามแบบที่ลูกค้าต้องการ

"วันนี้ลูกค้าเข้ามา ก็ขอให้เอาเงินและเอาใจ และเอาคนมา เราก็พร้อมขายตอนนี้มีลูกค้ารายใหญ่อีกหลายรายที่ติดต่อเข้ามา แต่ยังพูดไม่ได้ จึงคาดการณ์ว่า ปีนี้ยอดขายทะลุเป้าแน่นอน เพราะปกติเราตั้งเป้าว่าทุกปีจะขายที่ดินได้ 1,000 ไร่ แต่ปีนี้มีมาตรการกระตุนการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเข้ามาช่วย"

ซีอีโอดับบลิวเอชเอ กล่าวอีกว่า ดับบลิวเอชเอ มั่นใจว่าได้เปรียบสุดในพื้นที่อีอีซี โดยวัดจาก 1.มีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินอู่ตะเภาเพียง 18 กิโลเมตร 2.อยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง 3.เป็นศูนย์รวมคลัสเตอร์ยานยนต์กว่า 200 บริษัท ที่มีฐานอยู่ในพื้นที่แล้ว ซึ่งเวลานี้ลูกค้าจากฐานผลิตยานยนต์ของเรามีการพัฒนาการผลิตไปสู่ชื้นส่วนเครื่องบินได้แล้ว

"หากเร่งผลักดันพ.ร.บ.อีอีซี และเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐให้เร็วขึ้นจะเป็นการปลุกการลงทุนรอบใหม่ เชื่อว่าทุกอย่างจะไปได้ดีขอให้เชื่อมั่นประเทศไทย"

ปัจจุบันดับบลิวเอชเอ มีนิคมอุตสาหกรรม 9 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและระยองมีลูกค้ารวมทั้งหมดราว 800 ราย มีมูลค่าเงินลงทุนรวมในพื้นที่แล้ว 1ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มทุนญี่ปุ่น 38% ไทย19% ยุโรป11% อเมริกา9% และอื่นๆ เป็นการลงทุนในกลุ่มยานยนต์34% คอนซูมเมอร์ 14% ปิโตรเคมี 9%

ด้านนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนท่าเรือมาบตาพุดว่า กนอ.ได้ส่งรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอ ของการลงทุนท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณา 3-6 เดือน โดยการทำรายงานครั้งนี้ กนอ.ได้ผ่านการรับฟังความเห็นของชุมชนในพื้นที่แล้ว เพราะต้องมีการถมทะเล 1,000 ไร่ ซึ่งได้อธิบายวิธีการถมทะเล การขุดลอกและการดูแลตะกอนชายฝั่งให้ชุมชนเข้าใจ

ปัจจุบันท่าเรือมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด รองรับสินค้าได้ 25 ล้านตันต่อปี และการใช้งานเต็มศักยภาพแล้วจึงต้องขยายท่าเรือ โดยจะรองรับสินค้าเหลว สินค้าเทกองและสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ตามแผนที่วางไว้จะเปิดให้บริการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ได้ในปี 2563 และตั้งงบลงทุนไว้ที่ 1.01 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นผู้เลือกรูปแบบการลงทุน ซึ่งมีรูปแบบการลงทุน 2 แนวทาง คือ ภาคเอกชนร่วมลงทุนกับรัฐ (พีพีพี) และมอบให้ กนอ.เป็นผู้ลงทุนเอง โดยใช้เงินของ กนอ.หรือการกู้เงินมาลงทุน แต่ กนอ.คงไม่สามารถลงทุนเองทั้งหมดในครั้งเดียวได้

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) เปิดเผย ถึงความคืบหน้าของสศช.ในการพิจารณาผังพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีว่าโครงการหลัก ๆมีทั้งที่ได้รับงบประมาณและบูรณาการในปี 2560 และของบประมาณปี 2561 ซึ่งก็ครอบคลุมทั้งหมด สาธารณาสุข สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน เรื่องสิทธิประโยชน์ S-Curve ของบีโอไอก็วางไปแล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นเรื่องของการดึงดูดต่อนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560