ส.อ.ท.แนะสร้างธุรกิจรับเทรนด์โลก

17 ก.พ. 2560 | 06:00 น.
ประธานสภาอุตฯ ชี้ทางออกภาครัฐ และกลุ่มผู้ประกอบการ ศึกษายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมศึกษา 8 เทรนด์การใช้นวัตกรรมดิจิตอลของโลก ผนวกกับ “อินเตอร์เน็ต ออฟธิงส์” ช่วยผลักดันผู้ประกอบการลงทุน

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หากผู้ประกอบการรู้จักพัฒนาและเปลี่ยนแปลงให้ทัน ตามแนวทาง Digital Manufacturing ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของอุตสาหกรรม 4.0 มีการนำ Internet of Things (IOT) มาผสมผสาน จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมของสินค้าและบริการที่สนองตอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยจะสร้างให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ มากมาย เช่น ธุรกิจเสื้อผ้าในประเทศจีน ที่นำเรื่องของ Digital Manufacturing เข้ามาผนวก ทำให้ธุรกิจที่คนมองว่าเป็นช่วงขาลง กลับมียอดรายได้ที่ทะยานขึ้น ด้วยการสร้างเครือข่ายร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ลูกค้าสามารถวัดตัว กำหนดแบบได้ในร้านที่เป็นเครือข่าย ซึ่งร้านเหล่านั้นจะส่งออร์เดอร์ผ่านระบบออนไลน์ เข้าสู่โรงงาน และผลิตสินค้าในลักษณะเฉพาะของลูกค้าคนนั้นๆ ออกมาจำหน่ายได้เลย

[caption id="attachment_130427" align="aligncenter" width="503"] ส.อ.ท.แนะสร้างธุรกิจรับเทรนด์โลก ส.อ.ท.แนะสร้างธุรกิจรับเทรนด์โลก[/caption]

"Industry 4.0 ไม่ใช่ไทยแลนด์ 4.0 มันเป็นเรื่องของ Digital Manufacturing และหลักใหญ่ อยู่ที่เรื่องของ Mass Customization เอาเรื่องดิจิตอลมาประกอบ เพื่อสนองตอบโจทย์ได้อีกโจทย์หนึ่งไปเลย นอกจากนี้ยังต้องมองต่อยอดว่าจะไปเชื่อมโยงกับภาคอื่นๆ ได้อย่างไร เช่น ภาคเกษตร เราจะตั้ง สถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร เพื่อที่จะไปต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าภาคเกษตร ต่อไป" นายเจนกล่าว

ทิศทางการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ของไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปด้วยการผลักดันของภาครัฐบาล ที่ไม่เพียงแต่การทุ่มงบสร้างอินฟราสตรักเจอร์ และการปลดล็อกเงื่อนไขเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการลงทุนในประเทศไทย แต่ในส่วนของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งตั้งเป้าว่าจะออกมาประมาณกลางปีนี้ ก็มีความสำคัญ เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนที่ดีให้กับผู้ประกอบการทั้งหลายได้เป็นอย่างดี และจากผลสำรวจของ บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เกี่ยวกับ Tech breakthroughs megatrend ที่เป็นการศึกษารูปแบบของเทคโนโลยีมากกว่า 150 ประเภททั่วโลก เพื่อค้นหาว่าเทคโนโลยีใดจะเข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและกลุ่มอุตสาหกรรมมากที่สุด พบว่ามี 8 เทคโนโลยี (Essential eight) ที่จะเข้ามามีบทบาทมาก และเป็นแนวโน้มในการสร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ ได้แก่

1. ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence: AI) 2. ความเป็นจริงเสริม (Augmented reality: AR) 3. บล็อกเชน (Blockchain) 4. โดรน (Drones) 5. เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ (The Internet of Things: IoT) 6. หุ่นยนต์ (Robots) 7. ความเป็นจริงเสมือน (Virtual reality: VR) 8. เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ (3D printing) (ดูตาราง)

นายเจน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ย้ำว่าปีนี้ เป็นปีเของ Execution หรือการลงมือทำ ประเทศไทยจะเดินไปยังจุดนั้นได้ ต้องเปลี่ยนคนไทยก่อน ทำอย่างไรให้คนไทยมีแนวคิด ที่เป็นจิตสาธารณะ (Public Mind) เสียก่อน ด้วยการพัฒนาด้านการศึกษา รัฐบาลต้องเร่งปรับเปลี่ยนการปฏิรูปการศึกษา เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้การศึกษาแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้ คนไทยต้องเร่งปรับปรุงการศึกษาอย่างรวดเร็ว เพื่อให้มีทักษะและแนวคิดที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ดร.กษมา ถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท กษมา เฮลิคอร์ปเตอร์ส จำกัด กล่าวว่า จากการสนับสนุนของรัฐบาล เป็นการสร้างโอกาสให้กับภาคเอกชน นักคิดนักพัฒนาคนไทยไม่ต้องกลัวไปก่อนว่า ทำออกมาแล้วจะซ้ำ หรือไม่มีคนสนใจ เพราะในอุตสาหกรรมโลก เขากำลังตามหาอะไรใหม่ๆ อีกมาก

เช่นเดียวกับที่ ดร.มหิสร ว่องผาติ แชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์ RoboCup ในปี 2008 และผู้ก่อตั้งบริษัทพัฒนาระบบหุ่นยนต์ไทย HiveGround มองว่า โอกาสในการพัฒนาสร้างโปรดักต์ใหม่ๆ เกี่ยวกับอากาศยานไร้คนขับหรือยูเอวี (Unmanned Aerial Vehicle: UAV) หรือ Drone ยังมีตลาดที่น่าสนใจ เช่น ยูเอวีที่พัฒนาขึ้นมาจำนวนหลายเครื่อง อาจมีปัญหาการใช้ มีปัญหาระบบบริหารจัดการ การดูแลเครื่องยนต์ การใช้งานแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน การนำไปต่อยอดการใช้อื่นๆ ซึ่งตรงนี้ถ้าเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจ ก็สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นโอกาสในการสร้างธุรกิจจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีอีกมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560