'ธันย์ชนก - ทศพล' กับประสบการณ์รายงานข่าวระดับโลกร่วมกับ ซีเอ็นเอ็น

18 ก.พ. 2560 | 01:30 น.
ในอาชีพนักข่าว หลายๆ คนคงมีความฝันที่จะก้าวสู่การเป็นนักข่าวระดับอินเตอร์ มีโอกาสได้ทำข่าวระดับโลกกับเขาสักครั้ง หรือถ้าเป็นไปได้ ก้าวข้ามไปเป็นนักข่าวของสำนักข่าวระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็นเลยจะยิ่งดี แต่สำหรับ 2 นักข่าวของ สถานีข่าวสปริงนิวส์ ทีวีดิจิทัล ช่อง 19 "มิก - ธันย์ชนก จงยศยิ่ง" บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ และ "ตอง - ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล" ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ทั้ง 2 คือผู้โชคดี ที่ได้รับโอกาส หลังจากสปริงนิวส์ จับมือกับ บริษัท ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเมอร์เชียลฯ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ ซีเอ็นเอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล

ทั้งคู่ได้เดินทางไปทำข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด และยังได้ตามติดไปรายงานข่าว การสาบานตน ของ โดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา โดยมีซีเอ็นเอ็นเป็นทั้งผู้ประสานงาน และเป็นผู้สนับสนุนเทคโนโลยี สนับสนุนจุดรายงานสดที่ดีที่สุดให้กับสปริงนิวส์ ด้วยรูปแบบสัญญา (affiliate agreement) ที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับสัญญาที่ซีเอ็นเอ็นทำกับสำนักข่าวอื่นๆ ในภูมิภาคนี้

บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เล่าถึงการทำงานต่างประเทศ ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การรายงานข่าวเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก และอีกส่วนคือ การรายงานข่าวที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น ข่าวภัยพิบัติที่เนปาล เช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงการสาบานตนของ โดนัลด์ทรัมป์ ซึ่งเป็นข่าวที่สปริงนิวส์สนใจทำอยู่แล้ว และครั้งนี้ซีเอ็นเอ็น ได้เสนอให้สปริงนิวส์ไปรายงานสด โดยซีเอ็นเอ็นมีจุดตั้งรายงานสดให้ ดังนั้น การร่วมงานของทีมข่าวต่างประเทศสปริงนิวส์กับซีเอ็นเอ็นจึงได้เริ่มต้นขึ้น M30-3236-c

การเตรียมงานของทีมข่าวต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ประเมินว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น อเมริกา มีการเลือกตั้ง มีการสาบานตน ทีมต้องวางแผน ถ้าไป 7 วัน จะต้องทำอะไร การเลือกคนไปทำข่าว ตอง สามารถรายงานข่าว และมีความเชี่ยวชาญการใช้กล้อง รวมถึงการตัดต่อ ภาษาอังกฤษไม่มีปัญหา ดังนั้น จึงเซตทีมที่ไปทำงานเพียง 2 คน คือ มิกและตอง ซึ่งถือเป็นโมเดลการทำงานที่ต่างจากครั้งอื่นๆ ที่มีนักข่าว และช่างภาพ แต่ครั้งนี้ นักข่าว 2 ช่างภาพ 1 โดยตองทำหน้าที่ 2 ส่วน

"มิก" และ "ตอง" บอกว่า การเซตทีมครั้งนี้ ทำให้มีความคล่องตัว เพราะเป็นงานใหญ่ ความละเอียดในการทำงานมีมาก เมื่อคนไปน้อย โอกาสในการเข้าถึงจุดต่างๆ จะมีมากกว่าที่พาทีมงานไปหลายคน และซีเอ็นเอ็นก็สามารถช่วยซัพพอร์ตด้านเทคโนโลยีที่ดีได้ทั้งหมด ขณะที่ "มิก" รายงานสดอยู่ในจุดรายงานสด ที่งานเลี้ยงของฮิลลารี คลินตัน เมื่อวันที่ 8 พ.ฤศจิกายน 2559 โดยมีกล้องของซีเอ็นเอ็นถ่ายภาพให้ "ตอง" ก็สามารถออกไปรายงานสดจากอีกจุดหนึ่ง อย่างที่แคปปิตอลฮิลด์ได้ เสมือนมี 2 ทีมข่าวออกไปทำงาน ทั้งๆ ที่มีอยู่เพียง 2 คน

"ความยาก คือ เราต้องกะเวลาให้ถูก เพราะการรายงานเหตุการณ์ครั้งนี้ กำหนดการเขาจะไม่บอกชัดเจน เพราะมันเป็นเรื่องของความปลอดภัย เราต้องกะเวลา เช่น ทรัมป์ จะสาบานตน 11 โมงถึงเที่ยงของเวลาที่โน้น เราก็ต้องกะเวลา อเมริกาห่างจากเมืองไทย 12 ชั่วโมง ถ้าเกิดเป็น 14.45 น. เท่ากับ ตี 2.45 ที่เมืองไทย การจองเวลาสัญญาณสดไม่มีประโยชน์ เราต้องเปลี่ยนเป็น 5- 6 โมงเย็นที่โน้น ก็จะพอดีเวลาเช้าของเราที่นี่ ก็โชคดีว่ามันโป๊ะเชะทรัมป์มาถึงจุดที่เรารายงานพอดี" บรรณาธิการข่าวต่างประเทศเล่าให้ฟัง

การดีไซน์การทำงาน ไม่เพียงแต่การวางแผน การมีความยืดหยุ่น แต่ยังต้องดีไซน์ภาพที่จะนำเสนอ ให้เหมาะกับสื่อ การถ่ายภาพสำหรับออกอากาศทางทีวีแบบหนึ่ง การนำเสนอภาพกับสื่อโซเชียล ก็อีกแบบหนึ่ง เพื่อให้ภาพออกมาน่าสนใจ

M30-3236-B "มิก" พูดถึงประสบการณ์การร่วมงานกับซีเอ็นเอ็นว่า เป็นการทำงานกับระดับอินเตอร์เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้รู้ว่า การทำงานทุกอย่างต้องวางแผน แม้ซีเอ็นเอ็นจะช่วยซัพพอร์ตให้ในหลายๆ เรื่องรวมถึงการให้ข้อมูลว่า ควรเตรียมตัวอย่างไร แต่เราเองก็ต้องเตรียมพร้อม มีความรอบคอบ...เราเป็นบก. เราทั้งดูแลลูกน้อง และคุยกับผู้บริหาร สิ่งที่ได้เรียนรู้มากๆ คือ การวางแผนที่ดี และความรอบคอบ จะทำให้เราไม่เหนื่อยเวลาอยู่หน้างาน มันเป็นโมเดลการทำงานให้เราตั้งแต่การเลือกตั้ง จนมาสาบานตน ซึ่งโมเดลนี้จะทำให้เราสามารถทำงานในครั้งต่อๆ ไปได้เป็นอย่างดี

"ตอง" บอกว่า เขาเคยไปรายงานข่าวเนปาลประสบภัยพิบัติ ในครั้งนั้น เขาต้องทำทุกอย่างเอง ซึ่งค่อนข้างลำบากมาก แต่ครั้งนี้ มีซีเอ็นเอ็นซัพพอร์ต ทุกอย่างสะดวกสบาย สิ่งที่ได้จากการร่วมงานครั้งนี้ ทำให้เรียนรู้ถึงการทำงานภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน และความยืดหยุ่นโดยเฉพาะของเราเอง การจัดทีมแบบนี้ ทำให้เราสามารถทำงานได้ดี ตีโจทย์ถูก ทำให้ได้ผลงานที่น่าพอใจ และเมื่อได้ทำงานกับโพรเฟสชันนัลแบบซีเอ็นเอ็นแล้ว ยังช่วยเสริมศักยภาพของเราให้ดียิ่งขึ้น

ขณะนี้ทีมข่าวต่างประเทศสปริงนิวส์ กำลังเตรียมพร้อมสำหรับการรายงานข่าวสำคัญของโลกครั้งต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ฝรั่งเศส หรือเยอรมัน รวมถึงหากมีเหตุการณ์อื่นๆ ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด เพื่อผลักดันให้สปริงนิวส์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560