ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากพุ่งใครได้ ใครเสีย?

15 ก.พ. 2560 | 13:00 น.
colum06-323503 ที่ผ่านมาผมได้เคยแสดงความคิดเห็น และข้อห่วงใย ในเรื่องทางเศรษฐกิจของไทยเป็นระยะๆ ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาก๊าซ ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของภาคการผลิต ขนส่งสินค้า ราคาสินค้า และค่าครองชีพ หรือเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งครองอันดับต่ำสุดในอาเซียนมา 2 ปีซ้อน หรือเรื่องหนี้นอกระบบที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องมีภาระอันหนักหน่วง ต้องมีการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเป็นต้น

มาวันนี้ แม้ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีทิศทางดีขึ้นบ้าง โดยปีที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.2% (สศค.) แต่ต้องยอมรับว่า ถ้าเปรียบเทียบกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจไทยยังเดินไม่เต็มสูบ “กำลังซื้อถดถอย การส่งออกไม่เข้าเป้า การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำ”

แม้ตัวเลขการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 จะมีถึงประมาณ 8 แสนล้านบาท(ม.ค.-พ.ย.) แต่ขึ้นโครงการจริงเพียงกว่า 4 แสนล้านบาทเท่านั้น หรือลดลงจากปีก่อนหน้านี้เกือบ 30% (ที่มา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ) ทำให้สภาพคล่องหรือเงินในระบบสถาบันการเงินมีเหลืออยู่มาก ในที่สุดก็ต้องหันมาลดดอกเบี้ยเงินฝาก(สะสมทรัพย์) เมื่อตรวจสอบข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ของไทย 6 อันดับแรกดอกเบี้ยเงินฝาก เหลือเพียงประมาณ0.125- 0.75%เท่านั้น (ที่มา https://www.bot.or.th/thai/statistics/_layouts/application/interest_rate/in_rate.aspx) ที่ว่าส่วนต่างดอกเบี้ยสูงก็เป็นเรื่องที่คิดเองไม่ได้ ต้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆให้รู้แจ้งเห็นจริงเพราะข้อมูลนี้เป็นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญธนาคารโลกจึงมีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบทุกประเทศทั่วโลก (รายละเอียดที่ http://data.worldbank bank.org/indicator/FR.INR. LNDP/countries?display=default)ผมอยากนำข้อมูลบางประเทศมาเปรียบเทียบให้ดู เพื่อชี้ให้เห็นว่าเรากำลังมีปัญหาที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น นิวซีแลนด์และออสเตรเลียมีส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากอยู่ที่ 2.0และ 3.3% ตามลำดับ ส่วนประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในภูมิภาคนี้ ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทยมาก เช่น เวียดนามอยู่ที่ 2.4% มาเลเซีย 1.5% อินโดนีเซีย 4.3% จีน 2.9% สิงคโปร์ 5.2% เป็นต้น

ประเทศไทยเองในช่วงปี 2554-2558 ก็ต้องถือว่าสูงอยู่แล้วพอสมควรเพราะมีค่าเฉลี่ยส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่5.1% ถึงปี 2559 และต้นปี 2560 ก็พุ่งไปสูงกว่า7.0% แล้ว และยังมองไม่เห็นว่าจะมีทีท่าว่าจะลดลงมาแต่อย่างใด ทั้งที่เรื่องนี้ผมได้เคยออกมาบ่นดังๆ ให้ทุกฝ่ายรับรู้ไปแล้วก่อนหน้านี้หลายครั้ง ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ สถาบันการเงินน่าจะอยู่ได้สบาย แต่ประชาชนจะอยู่กันอย่างไรครับ? มีเงินเก็บอยู่บ้าง แต่ฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยไม่คุ้มเงินเฟ้อหรือพูดง่ายๆ ไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะประชาชนผู้เกษียณอายุซึ่งตอนนี้มีจำนวนสูงถึง10% ของประชากรทั้งประเทศ ที่ส่วนใหญ่มีแต่เงินฝาก ไม่มีรายได้แล้วจะอยู่กันอย่างไรครับ?

ทำนองเดียวกันผู้ประกอบการภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กและขนาดกลาง ต้องแบกภาระดอกเบี้ยสูงขนาดนี้ แต่ในสภาพเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน เพียงแค่จะให้มีกำไรพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยธนาคารได้ก็ต้องบอกว่าหืดขึ้นคอครับ...! แค่พยายามหมุนเงินให้พอค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนก็แทบจะไม่ไหวกันอยู่แล้ว แล้วจะไปแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศที่มีส่วนต่างดอกเบี้ยในระดับ2.0 หรือ4.0 หรือ 5.0% ได้อย่างไรครับ? สถาบันการเงินเองแม้จะอยู่ได้ แต่ก็แข่งไม่ได้ครับ ถ้าเป็นอย่างนี้ความน่าลงทุนในไทยก็ถดถอยไปเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากโครงการที่ออกบัตรส่งเสริมลดลงเกือบ 30%

เรื่องนี้นิ่งนอนใจไม่ได้ต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาลุกลามบานปลายไปกว่านี้ เพราะเห็นๆกันอยู่ว่าสถาบันการเงินได้เต็มๆ แต่ผู้ประกอบการและประชาชนทุกระดับก็เสียเต็มๆ ถึงเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ต้องแสดงฝีมือให้เห็น หนทางแก้ไขมีหลากหลายวิธี จะเลือกวิธีไหนก็ไม่ว่า ขอให้บอกให้ประชาชนทราบกันด้วย เรื่องนี้รอไม่ได้แล้วครับ...!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560