วาทกรรมเงินคงคลัง  กับ “รัฐบาลถังแตก”

10 ก.พ. 2560 | 13:30 น.
2546879


 

 

โดย : บากบั่น บุญเลิศ

วาทกรรมเงินคงคลัง  กับ “รัฐบาลถังแตก”

รัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา"กำลังถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ หลังนักวิชาการและผู้ที่ไม่รู้จริง ออกมาขย่มผ่านทางสื่อกระแสหลักและนิว มีเดียว่า "สถานะการเงินการคลังของประเทศอยู่ในขั้นถังแตก" เงินคงคลังลดลงจาก 2 แสนล้านบาท เหลือเพียง 74,907 ล้านบาท จนทำให้พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับตบะแตก เก็บอาการไม่อยู่ หงุดหงิด สั่งการให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องคือ รมว.คลัง "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" และ " สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจอย่างเร่งด่วน

ในโลกของข่าวสารที่ไร้สติ ปัญหาเงินคงคลังที่หยิบยกมาถล่มกันกลายไปเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศแล้วไปสรุปว่า รัฐบาลไม่มีเงินเหลือแม้จะจ่ายเงินเดือนข้าราชการสิ้นเดือนก.พ.นี้แน่นอน เรียกว่า "Go so Big"  หลายคนโดนวาทกรรมทางการเมือง “รัฐบาลถังแตก” ลากไปยาว จนกู่ไม่ไกลับ

ขณะที่หลายคนสงสัยว่าเงินคงคลังคืออะไร บางคนก็สับสนระหว่าง “เงินคงคลัง” กับ “ทุนสำรองระหว่างประเทศ”

ผมอยากจะทำความเข้าใจให้เห็นภาพของเงินคงคลังว่า "เป็นอะไร? มีมากเป็นอย่างไรฦ มีน้อยเป็นอย่างไร?"

"เงินคงคลัง"คือ เงินรายรับของรัฐบาลกลางในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่งที่เหลือจากรายจ่ายของรัฐบาล ซึ่งต่างกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต้องมีไว้เพื่อความมั่งคั่งและพร้อมจ่าย  หากมีการถอนเงินออกไปจากการค้าระหว่างประเทศหรือเงินทุนเคลื่อนย้าย

ปริมาณเงินสดของเงินคงคลังที่รัฐบาลถืออยู่ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  ไม่ได้เป็นตัวสะท้อนถึงความมั่งคั่งของประเทศแต่อย่างใด
ที่สำคัญ เงินคงคลังหากมีอยู่ในมือของรัฐบาลนั้น   ในด้านของปริมาณเงินและหลักการทางเศรษฐสาสตร์มีค่าเท่ากับศูนย์ การถือครองอยู่จำนวนมาก ไม่ได้มีค่าต่อเศรษฐกิจ

เพราะกฎหมายเงินคงคลัง บัญญัติไว้ว่า "เงินรายได้ของแผ่นดินนั้น จะต้องนำไปฝากไว้ในบัญชีของกรมบัญชีกลาง ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย อีกส่วนหนึ่งให้ถือเป็นเงินสดกระจายอยู่ตามคลังจังหวัดต่างจังหวัด เพื่อรอการเบิกจ่าย ซึ่งมีจำนวนไม่มากนัก"

แต่เงินคงคลังที่ฝากไว้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น กฎหมายกำหนดไว้ว่า "ไม่ให้จ่ายดอกเบี้ย" นอกจากนี้กฎหมายยังห้ามไม่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำเอาไปใช้

การที่กฎหมายกำหนดไว้แบบนี้ ก็เพราะว่า ในระหว่างปี เ"งินคงคลังอาจจะมีขึ้น-มีลง" เพราะภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บเป็นรายได้นั้นจะเข้ามาเป็นช่วงๆ ในบางเดือนมีภาษีเข้ามาจำนวนมาก เช่น เดือนมีนาคม-เมษายน หรือเดือนกันยายนที่มีค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม กำไรรัฐวิสาหกิจ บางเดือนมีภาษีเข้ามาน้อย

ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลตามงบประมาณนั้น มีภาระต้องจ่ายอย่างสม่ำเสมอ

ถ้าพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์ และการบริหารจัดการเงินแล้ว เงินคงคลังที่มีอยู่และเก็บไว้ในบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วห้ามใช้ เงินก้อนนั้น จะหมดสภาพของเงินไป    เพราะเม็ดเงินก้อนดังกล่าว ได้หายไปจากการหมุนเวียนในระบบการเงินแล้ว ตามที่กฎหมายบังคับไม่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจ่ายดอกเบี้ยให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อจะได้ไม่เป็นเงินอีกต่อไป

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะมีหลักตามกฎหมายงบประมาณแผ่นดิน และหลักทางการคลังว่า รัฐบาลพึงเก็บภาษีอากรเพียงเท่าที่มีความจำเป็นสำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลเท่านั้น เมื่อภาษีที่เก็บเกินมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาล ส่วนที่เกินนั้นจึงไม่ใช่ของรัฐบาลอีกต่อไป และก็ไม่ใช่เงินด้วย  เพราะหายไปจากการหมุนเวียนในตลาด  รัฐบาลจะเอาไปฝากเพื่อแสวงหาดอกผลมาเป็นรายได้ของรัฐบาลไม่ได้

ผมจำความได้เพราะเคยมีบันทึกไว้ในระบบการคลังของประเทศ ในสมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าเงินคงคลังของรัฐบาล"ติดลบกว่า 3 หมื่นล้านบาท"ธนาคารมาเบิกเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ได้  เพราะเงินในบัญชีเงินคงคลังของกรมบัญชีกลางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีไม่พอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดบัญชี ยอดเงินคงคลังเลยกลายเป็นตัวแดง แต่รัฐบาลจะไม่จ่ายเงินไม่ได้

ในทางปฏิบัติและหลักการ ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เรียกการชดเชยการขาดดุลงบประมาณแบบนี้ว่า เป็นการชดเชยงบประมาณทางประตูหลัง (back door financing)  เพราะต้องเร่งจ่ายแต่เศรษฐกิจไม่ดีเก็บภาษีในแต่ละเดือนไม่ได้ตามเป้า แต่ปกติปลายปีเงินจะเข้ามาทดแทน

สมัยรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "ปี 2555 เงินคงคลังมีมากถึง 3.21 แสนล้านบาท   ปี 2556 มีเงินคงคลัง2.28 แสนล้านบาท
สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เงินคงคลังมีทั้งสิ้น 1.8 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2560 ที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีงสิ้น 2.3 แสนล้านบาท

ตามกฎหมายเงินคงคลัง รัฐบาลจะใช้ได้เพียง 5 เรื่องเท่านั้น  1. ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ   2. ใช้ชำระหนี้ต่างประเทศ 3. ซื้อสินทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 4. ไถ่ถอนพันธบัตรของรัฐบาลก่อนกำหนด  5.กรณีต้องปฏิบัติตามกฎหมายแต่ไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้เท่านั้น  จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา / หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6  ฉบับที่ 3235 ระหว่าง 12-15 ก.พ.2560