‘ชาร์ป’ ชู America First กางแผนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ

12 ก.พ. 2560 | 14:00 น.
จากแนวนโยบายที่แข็งกร้าวโดยเฉพาะเรื่องตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปยังหลายค่ายธุรกิจ จนทำให้ได้เห็นความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ ที่เอาตัวเองออกจากลิสต์รายชื่อเป้าหมายของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นวงการรถยนต์ ซึ่งโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นรีบประกาศแผนลงทุน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท) ในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับฟอร์ด บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สหรัฐฯ ที่ยอมกลับลำล้มเลิกแผนสร้างโรงงานในเม็กซิโกและหันมาขยายฐานการผลิตในสหรัฐฯ แทน

ล่าสุดเป็นคิวของบริษัทชาร์ปคอร์ป (Sharp Corp) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังจากญี่ปุ่น กำลังตบเท้าเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตหน้าจอแอลซีดีในสหรัฐฯ ตามมาติดๆ ในฐานะบริษัทลูกของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สัญชาติไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักที่ผลิตไอโฟนให้กับแอปเปิล อิงค์และมีโรงงานในประเทศจีน หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว นายเทอร์รี่ กัว ประธานบริหารบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ฯ ภายใต้บริษัทหงไห่ พรีซีชั่นอินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry) ได้ประกาศเตรียมทุ่มเงินลงทุนสูงถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.45 แสนล้านบาท) ในสหรัฐฯ โดยที่ชาร์ปและบริษัทหุ้นส่วนในอนาคตจะเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการลงทุนดังกล่าว

ชาร์ป ซึ่งอยู่ในระหว่างปรับโครงสร้างภายใต้บริษัทหงไห่ พรีซีชั่นอินดัสทรีฯ ได้แจ้งแผนการลงทุนดังกล่าวให้รัฐบาลญี่ปุ่นทราบแล้ว โดยชาร์ปต้องการเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ก่อนวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2563 นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของญี่ปุ่นที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่ในสหรัฐฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวทางเพิ่มอัตราจ้างงานในประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่

ประธานบริหารของบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ฯ ก็ยอมรับว่าบริษัทของตนได้พิจารณาประเด็นนี้มานานหลายปี จนกระทั่งมีข่าวออกมาว่าเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา นายมาซาโยชิ ซัน ประธานบริหารของซอฟต์แบงก์ บริษัทโทรคมนาคมและการสื่อสารสัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่ และพาร์ตเนอร์คนสำคัญของฟ็อกซ์คอนน์ได้พูดคุยกับเทอร์รี่ กัว เกี่ยวกับแผนการสร้างโรงงาน ก่อนที่จะเข้าพบกับทรัมป์

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า การตั้งโรงงานน่าจะช่วยให้ฟ็อกซ์คอนน์ได้ส่วนแบ่งทางการตลาดในอเมริกามากขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระจากการเข้าซื้อบริษัทชาร์ปฯที่กำลังย่ำแย่เมื่อปีที่แล้วลงไปได้บ้าง ทั้งยังสอดรับกับนโยบายของผู้นำคนใหม่ของอเมริกาอีกด้วย

จากการเริ่มทยอยเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ สะท้อนความกังวลของบริษัทใหญ่ซึ่งมีฐานการผลิตในต่างประเทศที่มีต่อการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ ทำให้เมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดกับนายทรัมป์ ผู้ผลักดันนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน ซึ่งเป็นการพบปะหารือกันครั้งแรกของผู้นำทั้งสอง นับตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 20 มกราคม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560