ชงตั้งเขตส่งเสริมพิเศษ สิทธิประโยชน์มากกว่าอีอีซี-นำร่องอู่ตะเภา

13 ก.พ. 2560 | 08:00 น.
"อุตตม"เปิดทางผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี ขอจัดตั้งนิคมเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ ชง"ประยุทธ์"ต้นมี.ค.นี้ หวังดูดนักลงทุน ประเดิมพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ก่อนกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นนิคม ที่รองรับประเภทกิจการใน 10 กลุ่มเป้าหมาย

การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตามมาตรา 44 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อมาเร่งรัดการดำเนินงานและการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ระหว่างรอพ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก มีผลใช้บังคับ

ล่าสุดในการประชุมนัดแรกของกรศ.ที่จะมีขึ้นต้นเดือนมีนาคมนี้ ทางคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการเสนอให้พื้นที่อยู่ในอีอีซีมีการจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษขึ้นมา โดยจะนำร่องที่บริเวณรอบสนามบินอู่ตะเภาขึ้นมาก่อน และหลังจากนั้น จะเปิดให้เอกชนที่มีความพร้อมยื่นขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ด้วย

ทั้งนี้ เขตส่งเสริมพิเศษดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ที่จะมีการพิจารณาเป็นรายโครงการที่เข้าไปลงทุน นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามพ.ร.บ.อีอีซี และตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ที่ให้สิทธิประโยชน์กับประเภทกิจการที่กำหนดและอยู่ในข่าย 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 13 ปี และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราไม่เกิน 50 % เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือได้รับสิทธิประโยชน์จากพ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงเริ่มต้น เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการลงทุน สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือการพัฒนาบุคลากรเฉพาะด้าน โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 15 ปี เป็นต้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในต้นเดือนมีนาคมนี้ จะมีการเสนอให้พื้นที่อู่ตะเภาในระยะแรก ซึ่งมีพื้นที่ราว 3,000 ไร่ เป็นพื้นที่เขตส่งเสริมพิเศษก่อน เพื่อที่จะให้เอกชนเข้ามาลงทุนได้รวดเร็วขึ้น ไมว่าจะเป็นการสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน ศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรการบินม และกิจการพาณิชย์ปลอดอากร เป็นต้น โดยเริ่มแรกจะรองรับการลงทุนของทางบริษัท การบินไทย และแอร์บัส จะร่วมลงทุนก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน เป็นต้น

ส่วนพื้นที่เขตส่งเสริมอื่นๆ นั้น จะมีการเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ยื่นเข้ามาขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่ว่าทางกรศ.จะพิจารณาให้หรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละนิคมฯว่าจะต้องการส่งเสริมการลงทุนในประเภทกิจการตามที่มีการกำหนดไว้ด้วย โดยปัจจุบันมีพื้นที่นิคมพัฒนาแล้ว 1.5 หมื่นไร่ และรอการพัฒนาอีก 1.5 หมื่นไร่ โดยเขตส่งเสริมนี้จะครอบคลุมถึงการพัฒนาพื้นที่เมืองใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา โรงเรียนนานานชาติ และที่อยู่อาศัยด้วย

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการประกาศประเภทกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะได้สิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ตามอีอีซีที่ได้รับอยู่แล้ว แต่จะต้องอยู่ในเขตส่งเสริมที่กรศ.จะประกาศออกมานั้น หากมีความชัดเจนแล้วทางบริษัทก็พร้อมที่จะยื่นขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เพราะในอีอีซีบริษัทมีพื้นที่ราว 1 หมื่นไร่ ที่จะดำเนินการเป็นเขตส่งเสริมพิเศษได้ และพร้อมที่จะรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อิเล็กทรอนิกส์ ไบโคเคมีคัล เป็นต้น ส่วนจะมีกี่แห่งนั้นจะต้องรอความชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน หากจัดตั้งได้จะช่วยเป็นการดึงดูดโครงการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงได้มาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560