‘ออโธพีเซีย’ตั้งเป้าโต20% เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี61

13 ก.พ. 2560 | 10:00 น.
การแข่งขันทางธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การปรับตัวตอบรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บริษัท ออโธพิเซีย จำกัด ภายใต้การนำทัพของวินิจ ฤทธิ์ฉิ้ม กรรมการผู้จัดการ ได้ผันตัวเองจากการเป็นบริษัทรับจ้างผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของรถยนต์ และโลหะในชื่อบริษัท เซอร์วิส เอ็นจีเนียริ่ง (1987) จำกัด ไปสู่การเป็นบริษัทรายแรกในประเทศไทย ที่ผลิตเครื่องมือแพทย์ประเภทดามกระดูกส่วนต่างๆในร่างกาย หลังเกิดวิกฤติทางการเงินลุกลามไปทั้งประเทศเมื่อปี 2540

 พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

วินิจ ให้สัมภาษณ์ กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า มีความคิดที่ต้องมีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพียงแต่ด้วยการทำธุรกิจรับจ้างการผลิตที่ค่อนข้างยุ่ง จนเมื่อช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้มีเวลากลับมาทบทวนความคิดเดิม ประกอบกับได้พบกับศัลยแพทย์ด้านกระดูกท่านหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราช จึงรู้ว่าวัสดุดามกระดูกที่ใช้ในวงการแพทย์ในประเทศเป็นของที่ถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดในประเทศทำได้ จึงทำให้มองเห็นโอกาสในการสร้างธุรกิจอย่างที่ตั้งใจไว้ เพราะเครื่องมือแพทย์เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ผู้ป่วยก็ยังมีความต้องการไม่เปลี่ยนแปลง

"สิ่งที่สำคัญของเครื่องมือแพทย์คือความปลอดภัยเมื่อใช้กับผู้ป่วย เราจึงติดต่อโรงงานของบริษัท อวานเทคฯ ที่ผลิตเครื่องมือแพทย์จากประเทศสเปนเพื่อขอเข้าไปศึกษาดูงานโดยกระบวนการสำคัญก็คือการฆ่าเชื้อก่อนนำมาขาย เนื่องจากหากผู้ป่วยนำไปใช้แล้วเราทำไม่ถูกกรรมวิธี ผู้ป่วยเสียชีวิตจะเป็นเรื่องใหญ่ ส่วนเรื่องกระบวนการผลิตนั้น เชื่อว่าด้วยองค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมสามารถผลิตได้ เพราะไม่ต่างจากการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มากนัก เพียงแค่ลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม วัตถุดิบที่ใช้ผลิตก็เป็นมาตรฐานโลกอยู่แล้ว เมื่อกลับมาจึงตัดสินใจผลิต"

[caption id="attachment_129780" align="aligncenter" width="407"] ‘ออโธพีเซีย’ตั้งเป้าโต20% เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี61 ‘ออโธพีเซีย’ตั้งเป้าโต20% เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี61[/caption]

 มีมาตรฐานรองรับ

สำหรับชิ้นส่วนแรกที่ผลิตออกมาได้สำเร็จนั้น วินิจบอกว่าคือ สกรูดามกระดูก แต่ใช่ว่าเมื่อผลิตได้แล้วจะจำหน่ายได้ในทันที เนื่องจากแพทย์ไทยยังไม่มีความเชื่อมั่นบริษัทจากประเทศไทย เพราะไม่มีมาตรฐานรองรับ อีกทั้งที่ผ่านมาใช้แต่ของที่ผลิตจากต่างประเทศมาโดยตลอดบริษัทจึงต้องใช้เวลาอีก 5 ปีเพื่อให้ได้เอกสารรับรองผลิตภัณฑ์มา โดยเริ่มต้นจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม แต่ก็ไม่สามารถออกเอกสารได้เพราะไม่เคยมีการผลิตในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งไม่มีเภสัชกรที่มีความรู้เกี่ยวกับการผลิต

"ผมต้องนำเอกสารรับรองมาตรฐานจากต่างประเทศไปยืนยัน จนทำให้ สมอ. ออกใบมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอ.) ให้ จากนั้นจึงนำใบ มก. ไปยื่นที่ อย. ทำให้ได้หนังสือรับรองการจำหน่ายมา และทำให้สามารถนำไปใช้ยืนยันในการขายได้ในที่สุดแต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี ถึงจะเริ่มขายได้ที่ละน้อย เนื่องจากเมื่อแพทย์คนแรกยอมรับในการนำไปใช้ จะต้องหยุดรอดูผลประมาณ 3 เดือน เมื่อทุกอย่างผ่าน กระดูกติดกันได้โดยไม่ติดเชื้อ คนไข้รายต่อไปจึงตามมา เมื่อแพทย์คนแรกใช้แล้วได้ผลจึงแนะนำบอกต่อ บริษัทเองก็สามารถนำผลการใช้จริงไปการันตีได้เวลาที่ไปขายสินค้าให้กับโรงพยาบาลต่างๆ"

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลิตภัณฑ์แรกประสบความสำเร็จในการจำหน่าย บริษัทจึงเริ่มผลิตอุปกรณ์ดามกระดูกส่วนอื่นขึ้นมาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น แผ่นโลหะดามกระดูกไหปลาร้าชนิดหัวสกรูพยุง,โลหะดามกระดูกสันหลังส่วนกะโหลกศีรษะและคอด้านหลัง และโลหะดามกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว เป็นต้น เรียกว่าปัจจุบันมีวัสดุดามกระดูกได้ทุกส่วนของร่างกาย ยกเว้นข้อสะโพกเทียมกับข้อเข่าเทียมซึ่งเป็นโครงการที่บริษัทจะพัฒนาในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า เพื่อให้ครอบคลุมทุกส่วน

"อุปกรณ์ดามกระดูกที่ผลิตทุกชิ้นของบริษัทจำเป็นต้องนำมาทดสอบความแข็งแรง ความปลอดภัยของวัสดุในสัตว์ก่อน จากนั้นก็ต้องทำการทดสอบกับผู้ป่วยจริง "Surgical Technique"เพราะเราต้องสอนวิธีใช้ให้แพทย์ รวมถึงต้องทำแอนิเมชันให้เห็นภาพ ทั้งนี้ นอกจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทจะได้รับใบรับรองจากภายในประเทศแล้ว ยังได้รับมาตรฐาน CE Mark ระดับสากลของโลกด้วย"

[caption id="attachment_129779" align="aligncenter" width="335"] ‘ออโธพีเซีย’ตั้งเป้าโต20% เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี61 ‘ออโธพีเซีย’ตั้งเป้าโต20% เดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ปี61[/caption]

 วางเป้าโต 20% ปี 60

วินิจ บอกต่อถึงแผนการดำเนินงานในปีนี้ว่า มี 10 โครงการที่จะทำ เช่น อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับหมอนรองกระดูก,การออกแบบเครื่องมือแก้ไขกระดูกสันหลังคด,การอัพเกรดเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่ใช้กับส่วนซี่โครง และการต่อยอดเทคโนโลยีดามกระดูกที่ไปประกวดจนได้รับรางวัล และจดสิทธิบัตรไว้แล้วอย่าง ข้อศอก และนิ้ว เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของกลยุทธ์การทำตลาดนั้น ในปีนี้จะมีการจัดตั้งทีมการขายในตลาดต่างประเทศขึ้นมาอย่างจริงจัง เพื่อเจาะตลาดต่างประเทศ อีกทั้งเว็บไซด์โปรโมตผลิตภัณฑ์ การทำคู่มือที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาทั้งปี และจะสามารถทำตลาดต่างประเทศได้เต็มศักยภาพในปี 2561 โดยมีประเทศเยอรมันเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะเป็นประเทศที่มีการจัดงานเครื่องมือแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งบริษัทได้เริ่มไปออกบูธและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

"เป้ารายได้ของบริษัทปีนี้ตั้งใจจะให้โตประมาณ 20% จากปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 180 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเภทวัสดุดามกระดูกประมาณ 3-4% บริษัทยังมีช่องทางให้ทำตลาดอีกมาก จากการผลิตอุปกรณ์ หรือวัสดุดามกระดูกอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้ผลิต ซึ่งในปี 2561 คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากต่างประเทศแบบเต็มที่"

 แต่งตัวเข้า ตลท. ปี 61

วินิจยังแย้มให้เห็นถึงแผนงานสำคัญของบริษัทอีกด้วยว่า ในปี 2561 มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อมด้านต่างๆ ทั้งระบบการบริหารจัดการที่ต้องมีความโปร่งใส การดำเนินการเรื่องระบบบัญชีตามกฎระเบียบของ ตลท. โดยมองว่าการเข้า ตลท. จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งยังมีโอกาสอีกมาก

สุดท้ายเขาย้ำว่าสิ่งที่สำคัญของการทำธุรกิจเครื่องมือแพทย์คือการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยบริษัทตั้งงบราว 10% ของรายได้ทุกปี เพื่อใช้ในส่วนดังกล่าว เนื่องจากต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆตลอดเวลา และต้องนำไปทดสอบกับผู้ป่วยได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560