กรมชลฯบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูแล้งชี้มีใช้ถึงเดือน ก.ค.แน่นอน

10 ก.พ. 2560 | 04:06 น.
กรมชลประทาน วางแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยมตอนล่างในช่วงฤดูแล้ง เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มีน้ำกินน้ำใช้ถึงเดือนกรฎาคมแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูแล้งปี 2560 นี้ กรมชลประทานได้วางแผนบริการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง โดยในเขตพื้นที่จ.สุโขทัย จะใช้ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์(ปตร.) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย และฝายยางน้ำในแม่น้ำอีก 4 แห่ง(ฝายคลองกระจง ฝายเกาะวงษ์เกียรติ์ ฝายบ้านกง และปตร.วังสะตือ) เก็บกักน้ำในแม่น้ำยมรวม 26 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 105,286 ไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จเดือนมีนาคม 2560 ส่วนใหญ่จะใช้น้ำนอนคลองในแม่น้ำยมและน้ำที่ระบายมาจากปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้คาดว่าเมื่อสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 จะมีปริมาณน้ำเก็บกักที่หน้าปตร.บ้านหาดสะพานจันทร์ ประมาณ 12-13 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงเดือนมีนาคม 2560กรมชลประทานจะควบคุมการระบายน้ำตามความต้องการที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งจะเพียงพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2560

นอกจากนี้ ในพื้นที่จ.สุโขทัย ยังมีแหล่งน้ำต้นทุนจากอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 6 แห่ง(อ่างฯแม่มอก(ลำปาง)     อ่างฯห้วยท่าแพ อ่างฯแม่กองค่าย อ่างฯห้วยแม่สูง อ่างฯคลองข้างใน และอ่างฯห้วยทรวง) ปัจจุบันมีประมาณน้ำรวมกัน 141 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้สำหรับสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง วันละประมาณ 0.75 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2560 ปริมาณน้ำจึงเพียงพอใช้ไปจนถึงช่วงต้นฤดูฝน ในส่วนของแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 20.87 ล้านลูกบาศก์เมตร มีความต้องการใช้น้ำประมาณเดือนละ 0.40ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะสนับสนุนการอุปโภค-บริโภคไปจนถึงฤดูฝนเช่นกัน

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยมในเขตจ.พิษณุโลก ในช่วงปลายฤดูฝนที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ดำเนินการชักน้ำมา เก็บกักไว้ในบึงตะเคร็ง บึงระมาณ และบึงขี้แร้ง รวมกันได้ประมาณ 23 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 76  ของปริมาตรเก็บกักทั้งหมด เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 11,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรยังคงใช้น้ำจากลำน้ำธรรมชาติ และเมื่อปริมาณน้ำตามธรรมชาติหมดลงในช่วงประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ จึงจะนำน้ำจากบึงต่างๆ มาใช้สนับสนุนการเพาะปลูกให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมดในเดือนเมษายน 2560

ในส่วนของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านบริเวณอ.โพธิ์ประทับช้าง และอ.โพทะเล จ.พิจิตร นั้น จะฝายยาง 3 แห่งได้แก่      ฝายยางสามง่าม ฝายยางพญาวัง และฝายยางบางคลาน เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้าสู่      ฤดูแล้ง ได้มีการยกฝายยางขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 8.42 ล้านลูกบาศก์เมตร   มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ใช้น้ำจากสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 33 สถานี ประมาณ 45,000 ไร่ ใช้น้ำวันละประมาณ 0.28    ล้านลูกบาศก์เมตรโดยจะใช้น้ำจากแม่น้ำยมได้ถึงจนสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นเกษตรกรจะใช้น้ำจากบ่อตอก บ่อน้ำตื้น และแหล่งน้ำใกล้เคียง จนกระทั่งเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จโดยไม่เกิดความเสียหาย

ด้านนายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเพิ่มเติมว่า พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำยม(สุโขทัย พิษณุโลก และพิจิตร) มีพื้นที่รวมกันประมาณ 1,459,578 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน 913,988 ไร่ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 545,590 ไร่ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือ หากเกิดปัญหาภัยแล้งขึ้น โดยได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำไว้ช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำ รวมไปถึงวิธีการปรับตัว และวิธีลดผลกระทบจากภัยแล้งแก่เกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการจ้างแรงงานภาคการเกษตร เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรัง หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนในช่วงฤดูแล้ง

สำหรบการปรับเปลี่ยนฤดูกาลเพาะปลูกของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานเรศวร นั้น ที่ได้มีการเลื่อนการเพาะปลูกขึ้นมาให้เร็วขึ้นเป็นเดือนเมษายน เพื่อให้ทันเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงเวลาดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 155 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 244,820 ไร่

ในส่วนของผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลุ่มน้ำยม มีโครงการที่ได้ดำเนินการและมีความคืบหน้าไปบ้างแล้ว ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองยม-น่าน ในเขตจ.สุโขทัย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นอกจากนี้ ยังมีโครงการได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองเมม(แม่น้ำยมสายเก่า) และโครงการคลองชักน้ำแม่น้ำยมฝั่งขวา(คลองสุชน-คลองตะโม่-แก้มลิง)พร้อมอาคารประกอบ(ระยะเร่งด่วน) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำใหญ่ ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนขนาดใหญ่เหมือนเช่นลุ่มน้ำอื่นๆ ปริมาณน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติจึงค่อนข้างจำกัด การบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่สามารถแบ่งปันกันใช้ ได้อย่างเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งจึงขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดด้วย ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ จะไม่รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา