กรม สบส เร่งขับเคลื่อนมาตรฐานบริการผู้สูงอายุไทย เล็งหนุนลองสเตย์รับมือผู้สูงวัยต่างแดน  

09 ก.พ. 2560 | 07:41 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เร่งขับเคลื่อนมาตรฐานการจัดบริการดูแลผู้สูงอายุไทยให้เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพ  3 รูปแบบ  ทั้งประเภทติดบ้าน ติดเตียง และติดสังคม พร้อมต่อยอดขยายเป็นธุรกิจสุขภาพโดยเฉพาะลองสเตย์ บริการผู้สูงวัยต่างแดน  สร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต  ผลสำรวจล่าสุดไทยมีผู้สูงอายุร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวในรอบ 20 ปี

นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กรม สบส.ได้เร่งขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานระบบบริการผู้สูงอายุ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด รูปแบบการดูแลผู้สูงอายุจะแบ่งตามสภาวะเงื่อนไขทางสุขภาพแตกต่างกัน  คือ 1.ประเภทติดบ้าน ได้แก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ เช่นเดินยากลำบาก แต่ยังช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้  2.ประเภทติดเตียง เป็นผู้สูงอายุที่ป่วยและต้องพึ่งพิงคนอื่นช่วยดูแลกิจวัตรประจำวัน และ3.ประเภทติดสังคม  เป็นผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตนเองได้ดี  ซึ่งยังมีจำนวนมากเพื่อสร้างความสุขให้ผู้สูงอายุที่เคยทำคุณประโยชน์ต่อสังคมมาอย่างเนิ่นนาน ทั้ง 3 ประเภทนี้ จะต้องให้มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย และมีจำนวนที่เพียงพอ  ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 ไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าตัวในรอบ 20 ปี  โดยการจัดแบ่งของไทยนี้แตกต่างจากองค์การสหประชาชาติที่แบ่งตามช่วงอายุ คือ 60-70 ปี, 71-80 ปีและ 80 ปีขึ้นไป

ในการขับเคลื่อนมาตรฐานของการจัดบริการผู้สูงอายุนั้นกรม สบส.จะเน้นหนักที่สถานประกอบการที่ให้การดูแลทั้งภาครัฐที่มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง และภาคเอกชน กิจการประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องการรักษาพยาบาล โดยจะใช้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 เป็นกลไกควบคุมมาตรฐาน เช่น เนิร์สเซอรี่  เนิร์สซิ่งโฮม หรือศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกรมสบส.จะออกเป็นกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559  ขณะเดียวกันจะส่งเสริมต่อยอดให้มีธุรกิจบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ  ในรูปแบบการพำนักระยะยาวหรือลองสเตย์ (Long stay)  บริการผู้สูงอายุทั้งคนไทยและต่างชาติที่ต้องการมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย เนื่องจากประเทศต่างๆทั่วโลก ขณะนี้ล้วนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน แต่ต้นทุนการดูแลของต่างชาติสูงมาก  และเชื่อว่าในอนาคตโลกอาจไม่มีพรมแดน  จะมีการเคลื่อนย้ายบริการผู้สูงอายุไปในประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า จึงต้องเร่งออกแบบบริการทั้งแบบมาตรฐานทั่วไป และมาตรฐานที่สูงกว่าด้วย

ประเด็นที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆกัน คือการกำหนดประเภทของบุคลากรที่ดูแล  การจัดหลักสูตรพัฒนาเป็นการเฉพาะ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีแพทย์ พยาบาล ประจำ รวมทั้งยาที่จำเป็นต้องมีในสถานประกอบการประเภทนี้ และมีระบบการประสานงานดูแลในภาวะฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงป่วยฉุกเฉินสูงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมากรม สบส.ได้เชิญผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมหารือแล้ว

นายแพทย์วิศิษฎ์  กล่าวต่อไปว่า  นอกจากประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นแล้ว  สิ่งที่เป็นปัญหาควบคู่จากผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือคนเดียวเป็นทั้ง 2 โรค   ในจำนวนนี้สามารถปฏิบัติตัวควบคุมอาการได้ดีไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  จึงกลายเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้าน ติดเตียง  กลุ่มนี้จะต้องจัดระบบบริการฟื้นฟูสุขภาพ เพื่อสร้างทั้งความสุขและความปลอดภัย ส่วนผู้สูงอายุที่ติดสังคมซึ่งยังไปไหนมาไหนได้  จะต้องมีระบบการส่งเสริมสุขภาพ  สามารถชะลอการมีสุขภาพดีไว้ให้นานที่สุด  เป็นไปตามเป้าหมายกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าให้คนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยตั้งแต่แรกเกิด 80 ปี และมีสุขภาพดีจนถึงอายุ 72 ปีa