รัฐบาลเดินหน้าอีอีซีเปิดพื้นที่ลงทุน 10 อุตสาหกรรมใหม่

09 ก.พ. 2560 | 02:42 น.
รัฐบาลเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เปิดพื้นที่ลงทุนทางเศรษฐกิจใน 10 อุตสาหกรรมใหม่ มั่นใจเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด

เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2560  นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พบปะสื่อมวลชนต่างประเทศพร้อมชี้แจงรายละเอียดและความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) โดยร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. ... ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นอย่างมาก โดยกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมโดยเฉพาะที่เชื่อมโยงกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ควบคู่กับยกระดับเส้นทางคมนาคมพื้นฐานทั้งทางบก เรือ และอากาศ โดยเบื้องต้น EEC ครอบคลุมเขตพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่เริ่มต้นสำคัญในการผลักดันประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) มีมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยมี 15 โครงการเป้าหมายเบื้องต้น เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมให้เหมาะสมทั้งสินค้าและประชาชนอาทิ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด รถไฟความเร็วสูงและมอเตอร์เวย์สายใหม่

สำหรับแผนการชักจูงผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน EEC นั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ปรับสิทธิประโยชน์ใหม่จากเดิม รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษีอีกหลายประการ อาทิ การยื่นขอวีซ่าพิเศษ สำหรับแรงงานที่มีความรู้ความสามารถ เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งไฟฟ้า ประปา และระบบอินเตอร์เน็ตภายในพื้นที่ โดยขณะนี้ ภาคเอกชนทั้งจากเอเชีย ยุโรปและสหรัฐฯ ได้เข้ามา ติดต่อพูดคุยและให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในโครงการ EEC ด้วยแล้ว

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ร่าง พรบ. เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

โอกาสนี้ ดร.กอบศักดิ์ ฯ ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (ECC) คือ เครื่องจักรกลใหม่ในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแบบก้าวกระโดด ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและประโยชน์เชิงสังคมทั้งในระดับชุมชน ประเทศ และCLMVและ AEC จากการประเมินคาดได้ว่า EEC จะทำให้ GDP ประเทศขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1 แสนคนต่อปี และจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคนต่อปีด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า พลเอกประยุกต์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานคณะกรรมการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) พร้อมทั้งมีการจัดตั้ง ศูนย์ One Stop Service ในพื้นที่ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการเดินหน้าขับเคลื่อน EEC ในฐานะยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศ บนพื้นฐานการเติบโตเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน (Inclusive Growth) ทั้งเพิ่มรายได้ของประชาชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปพร้อมๆ กัน