เอกชนหนีลงทุนนอก นโยบายโรงไฟฟ้าสับสน ความเสี่ยงไม่แน่นอน

11 ก.พ. 2560 | 00:00 น.
2 บจ. หนีลงทุนพลังงานนอกประเทศ ระบุความไม่แน่นอนนโยบายโรงไฟฟ้าทั้งการเช่าที่ส.ป.ก. และการให้ราคารับซื้อไฟฟ้า เป็นความเสี่ยง TPCH-TLUXE ดิ้นทำพลังงานลาว-ญี่ปุ่น

แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจเอกชน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล เป็นความเสี่ยงกับการดำเนินธุรกิจเอกชน จากกรณี โครงการติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า ที่จังหวัดนครราชสีมา และชัยภูมิ ของ 20 บริษัท ที่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก. ) อยู่ระหว่างการเรียกเอกสารมาทบทวนทั้งหมด 19 บริษัท ซึ่งใช้เวลา 15 วันทราบผล รวมถึงบริษัท การบินกรุงเทพ ( BA ) ที่มีปัญหาการเช่าที่ราชพัสดุด้วยอยู่ระหว่างตีความรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์หรือไม่ ซึ่งภาคเอกชนลงทุนไปแล้วจำนวนมากเกิดความเสียหายได้

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า บริษัทที่อยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตขายไฟฟ้า ( PPA ) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) สหกรณ์การเษตร ซึ่งเอกชน เกิดความลังเลจะยื่นขอ PPA หรือไม่ จากอัตราการรับซื้อไฟที่เคยให้ 5.60 บาท / เมกกะวัตต์ เหลือ 4.12 บาท

“ โครงการโซลาณ์ฟาร์ม อาจมีปัญหาจากราคารับซื้อที่ลดลงต่อเนื่อง ไม่คุ้มการลงทุน นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( กฟผ.) เล็งทำโรงไฟฟ้าเอง 1,000 เมกกะวัตต์ มองว่า การทำธุรกิจโรงไฟฟ้าในไทยจะทำยากขึ้น

นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซีเพาวเวอร์โฮลดิ้ง ( TPCH ) กล่าวว่า วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา บริษัท ฯ ได้ทำบันทึกความเข้าใจ ( MOU ) ศึกษาความเป็นไปได้ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำ เสบั้งงเหียน 1 แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ขนาดกำลังผลิต 52.10 เมกกะวัตต์กับรัฐบาลลาว โดยมีนายคาเรียง พลเสณา รองรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน ของสปป.ลาว เป็นผู้ลงนาม MOU

ปัจจุบัน TPCH มีโครงการที่เสนอขายไฟฟ้าแล้วในประเทศ 40 เมกกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 20 เมกกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 82 เมกกะวัตต์ รวมถึงโครงการต่างประเทศที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 52.1 เมกกะวัตต์ เป้าหมายพัฒนาโครงการต่างประเทศ 50-80 เมกกะวัตต์ ภายในปี 2563

ด้านนายกิตติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ ( TLUXE ) กล่าวว่า คณะกรรมการบริษัท ฯ อนุมัติให้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เมือง อาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งบริษัทใหม่ในประเทศญี่ปุ่น ทุนจดทะเบียน 10 ล้านเยน บริษัท ฯ ถือหุ้น 60 % และบริษัท อาอูระ กรีน เอ็นเนอร์ยี่ ( ญี่ปุ่น ) ถือหุ้น 40 %

สำหรับบริษัทร่วมทุนดังกล่าว เพื่อลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 5 ยูนิต มูลค่า รวม 175 ล้านเยน โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างหารือกับที่ปรึกษากฎหมายและที่ปรึกษาทางภาษี เพื่อจัดโครงสร้างการลงทุน

นักวิเคราะห์พลังงานทดแทน กล่าวว่า ราคาหุ้นพลังงานฟื้นตัวช่วงสั้น ๆ ในช่วงการรอสปก.ทบทวนเอกสาร 15 วัน อย่างไรก็ตาม หุ้นพลังงานที่มีความเสี่ยงกับนโยบายการเช่าที่สปก.ของภาครัฐ หนักสุดคือ พลังงานบริสุทธิ์ ( EA ) เนื่องจาก 5 โครงการพลังงานลมหนุมาน ขนาด 260 เมกกวัตต์ ที่จ.ชัยภูมิ คิดเป็น 40 % ของโครงการพลังงานทั้งหมด 664 เมกกะวัตต์ แม้ว่าบริษัทยังไม่ได้ผลิต เริ่มต้นใส่เงินลงทุน 20-30 ล้านบาท แต่นักวิเคราะห์ได้นำโครงการหนุมานรวมอยู่ในประมาณการแล้ว กรณีโครงการหนุมานมีปัญหา ทำให้มูลค่าหุ้นหายไป 7-10 บาท โดยราคาปัจจุบันลงมารับข่าวและมีโอกาสลดลงอีกหากสปก.มีความชัดเจน

สำหรับบริษัท โรงไฟฟ้าราชบุรีฯ (RATCH) และบริษัทเด็มโก้ (DEMCO) ซึ่งลงทุนโครงการพลังงานลมห้วยบง 2 และ 3 และบริษัท ผลิตไฟฟ้า (EGCO) แม้ว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐจากที่เช่าพื้นที ส.ป.ก. แต่เป็นผลกระทบไม่มากเมื่อเทียบกับ EAเนื่องจาก ฐานรายได้และกำไรเป็นฐานที่เล็กเมื่อเทียบกับรายได้ส่วนใหญ่ ขณะที่ EA ฐานรายได้ของโครงการหนุมาน คิดเป็น 40%ของพอร์ตโรงไฟฟ้าทั้งหมด 664เมกะวัตต์ โดยโครงการหนุมานของ EA มีโอกาสได้รับความเสี่ยงจากนโยบายรัฐ จากคำตัดสินของเทพสถิต เป็นตัวอย่าง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560