หวัง‘ปรองดอง’สำเร็จ นักวิชาการแนะเปิดกว้างฟังความเห็นทุกข์-สุข-คับข้องใจ

11 ก.พ. 2560 | 02:00 น.
“โคทม” แนะ “กรรมการปรองดอง” เน้นการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น 2 ทาง ทั้งทุกข์-สุข-คับข้องใจ “ทวี” เชื่อมีความหวังปรองดองสำเร็จ เสนอผ่อนปรนผู้ร่วมชุมนุม

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะประธานกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ได้ลงนามคำสั่งที่ 7/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการป.ย.ป. 4 คณะประกอบด้วย 1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นรองประธาน และมีกรรมการอื่นอีกอย่างน้อย 31 คน

นายโคทมอารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงความเห็นต่อคณะกรรมการปรองดองว่า ส่วนตัวยังให้กำลังใจกับคณะทำงาน เพราะมองว่า ยังมีความหวังที่การปรองดองจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีสิ่งที่อยากให้เน้น คือ เรื่องของการมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนความเห็นสองทาง เวลาพูดคุยกัน ไม่ใช่คณะทำงานปิดห้องแล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนกันแต่ละฝ่ายแต่ละห้อง แต่ควรให้คนที่เห็นต่างได้หารือกันแลกเปลี่ยนความทุกข์ความสุข ความคับข้องใจซึ่งกันและกัน ร่วมวงพูดคุยกัน เผชิญหน้ากัน

“อีกประการ คือ ไม่ใช่คุยกันเฉพาะแต่เรื่องในอดีต หรือคุยแต่คุณค่าวิสัยทัศน์ และอุดมการณ์ ขอเสนอแนะว่า ควรปลดล็อกเงื่อนไขบางประการ เช่น เรื่องของสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางความเห็นเพื่อให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นได้โดยไม่ปิดกั้น เป็นต้น”

เช่นเดียวกับ นายทวี สุรฤทธิกุล รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่มองอย่างมีความหวังว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีคณะทำงานเกิดขึ้นมาแล้วหลายคณะแต่ก็ไม่บรรลุผล มีแต่ข้อเสนอแนะแต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง

สำหรับรัฐบาลชุดนี้ยังมีเวลาอีกปีกว่าๆ มีกรอบการทำงาน กระบวนการ รวมถึงระยะเวลาการทำงานที่ชัดเจน เชื่อว่า มีความหวัง สำหรับครั้งนี้อยากให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างรวดเร็วซึ่งเบื้องต้นมองว่า กระบวนการที่จะสามารถนำไปสู่การปรองดองสามารถทำได้ใน 2 เรื่อง คือ การปล่อยตัวผู้ร่วมกระบวนการเดินขบวนชุมนุมเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ควรผ่อนปรนให้กับผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ซึ่งไม่ใช่แกนนำ ขณะที่แกนนำกระทำผิดร้ายแรงควรยอมรับผิดการทำผิด แต่ไม่ใช่ด้วยการนิรโทษกรรมให้

“ทั้ง 2 ขั้นตอนนี้เชื่อว่าสามารถลงมือทำได้ทันที ทำได้ด้วยความรวดเร็ว ส่วนตัวผมยังมีความหวัง ไม่อยากให้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเหมือนที่ผ่านมา”นายทวี กล่าว

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) แสดงความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดองว่า ขณะนี้อยู่ในระยะเวลาที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังพยายามหาหนทางที่จะสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับประชาชนในชาติ ตนจึงไม่อยากที่จะแสดงความคิดเห็นไปมากกว่าจุดยืนที่ตนได้บอกไว้ในอดีต

“หากผมได้แสดงความคิดเห็นใดๆ ออกไปมากอาจจะทำให้เกิดเป็นประเด็นความเห็นแย้งกับฝ่ายอื่นๆ ที่จะนำไปอ้างได้ว่าผมไม่มีความคิดที่จะปรองดองรวมถึงผมอยากให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองให้ชัดเจนก่อน”
สำหรับคดีความที่ตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหานั้น จะสู้คดีความตามกระบวนการยุติธรรมและไม่เห็นด้วยกับการยกเว้นโทษนิรโทษกรรม หรือการลบล้างความผิดให้กับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเพื่อความปรองดอง”

เปิดโฉมกรรมการปรองดอง 33 คน


คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม เป็นรองประธานกรรมการ ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยในส่วนของกรรมการประกอบด้วย ประธานสนช.และรองประธานสนช. คนหนึ่งประธานสปท.และรองประธานสปท.คนหนึ่ง

รมว.มหาดไทย รมว.ต่างประเทศ รมว.ยุติธรรมรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รมว.กลาโหม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ผบ.สส. ผบ.ทั้ง 3 เหล่าทัพ ผบ.ตร. ปลัดกระทรวงกลาโหมปลัดกระทรวงมหาดไทย ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.)เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาอัยการสูงสุด เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ผู้แทนคสช. ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

พร้อมกันนี้แต่งตั้งโดยชื่อบุคคล 5 รายมี พล.อ.บุญสร้างเนียมประดิษฐ์ สมาชิกสนช.และอดีตผบ.สส.นายเอนก เหล่า-ธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ นายสุจิต บุญบงการ อดีตกรรมาธิการ ยกร่างรัฐธรรมนูญนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี นายสุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเป็นกรรมการและที่ปรึกษา

รวมทั้งให้ประธานอนุกรรมการทุกคณะ ภายใต้คณะกรรมเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี (ถ้ามา)เป็นที่ปรึกษาและกรรมการด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560