สอท.ชี้เงินคงคลัง 7.5 หมื่นล.ไม่กระทบเชื่อมั่นประสิทธิภาพสำคัญที่สุด

08 ก.พ. 2560 | 11:00 น.
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประสิทธิภาพการใช้เงินคงคลัง หรือเงินงบประมาณแผ่นดิน เป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากที่สุด มากกว่าการให้ความสำคัญกับการมาดูว่า เงินคงคลังเหลือน้อยหรือเหลือมาก

[caption id="attachment_129345" align="aligncenter" width="500"] เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย[/caption]

ประสิทธิภาพการใช้เงินคงคลัง จะต้องพิจารณาใน 2 หลักการ คือ 1.เม็ดเงินที่รัฐบาลเอาออกไปเพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร หรือการแก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ จะต้องมีประสิทธิภาพสูง เงินตรงถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทันท่วงทีและเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อให้เม็ดเงินมีการการหมุนเวียน

นอกจากนี้ประสิทธิภาพของการใช้เงินคงคลังจะต้องไม่มีการทุจริต คำนึงถึงความคุ้มค่า เงินลงไป 100% จะต้องได้ 120% ไม่ใช่ได้แค่ 30%

นายเจน กล่าวว่า สำหรับเงินคงคลังของภาครัฐที่มีการรายงานข่าวว่าเหลือน้อยเพียงแค่ 7.5 หมื่นล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ได้สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อภาคเอกชน เงินคงคลังถือว่าเป็นการบริหารเงินสดสภาพคล่องของรัฐบาล ไม่ต่างจากภาคเอกชน ที่มีการบริหารเงินสดในมือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดเช่นกัน การมีเงินสดเหลือไว้ในคลัง ก็เผื่อไว้หากมีเหตุการณ์ที่ต้องใช้จ่ายอย่างเร่งด่วน ไม่ต้องรอการตั้งงบประมาณ ซึ่งจะใช้เวลานาน

"เงินคงคลังมากไปก็ไม่ดี สะท้อนว่ารัฐบาลใช้เงินไม่เป็น น้อยไปก็ไม่ดี ควรมีแต่พอดี เทียบกับเอกชนที่มีเงินเหลือ ถ้านำไปฝากแบงก์ก็จะได้ผลตอบแทนต่ำแค่ 0.50% แต่หากนำไปลงทุน ผลิตสินค้าก็จะมีรายได้มากกว่า แต่ภาครัฐหากเอาไปฝากแบงก์ชาติก็ไม่มีรายได้เข้ามา"

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า การปรับลดลงของเงินคงคลังนั้น ไม่เป็นประเด็นในเชิงลบต่อการบริหารจัดการเงินคงคลัง ซึ่งเป็นไปตามที่กระทรวงการคลัง และรัฐบาลต้องการปรับวิธีบริหารจัดการเงินคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากช่วงไหนรัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ทางรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องกู้เงินมา เนื่องจากยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้และไม่ต้องแบกภาระดอกเบี้ยซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

[caption id="attachment_129346" align="aligncenter" width="379"] สมประวิณ มันประเสริฐ ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สมประวิณ มันประเสริฐ ที่ปรึกษาและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา[/caption]

" เงินคงคลัง" เปรียบเสมือนเงินในกระเป๋า ซึ่งหากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ไม่จำเป็นต้องเก็บเงินคงเหลือไว้กับตัวจำนวนมาก เช่นกันกับรัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีเงินคงคลังเหลือเก็บไว้ในจำนวนสูงเกิน แต่เมื่อถึงช่วงที่รัฐบาลต้องการใช้เงิน ทางรัฐบาลสามารถออกตั๋วเงินหรือเพิ่มสภาพคล่องได้อยู่แล้ว

ทั้งนี้ หากมองไปถึงเสถียรภาพทางการคลังของรัฐบาลในภาพรวม ภาระหนี้ปัจจุบันมีอยู่เพียง 42%ต่อจีดีพี(หนี้สาธารณะคงค้างสิ้นปีที่ผ่านมาคิดเป็น 42.73%ของจีดีพี)ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังกำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพี โดยยังมีช่องให้สามารถกู้เงินได้ภายใต้กรอบความยั่งยืน

"ปัจจุบันไทยมีภาระหนี้ทางการคลังเพียง 40%กว่าเท่านั้น การที่รัฐบาล Run Down เงินคงคลังลดลงก็เป็นการลดต้นทุนและเป็นวิธีการบริหารงานที่มีDynamic ซึ่งเป็นวิธีการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยซ้ำ"

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรให้ความเห็นว่า การปรับลดลงของเงินคงคลังนั้นไม่ได้สะท้อนว่ารัฐบาลไทยมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง และไม่ได้เป็นประเด็นข้อกังวล เนื่องจากฐานะเงินคงคลังดังกล่าวเป็นเงินรองรับสภาพคล่องในการบริหารจัดการของเงินคงเหลือของรัฐบาลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะหากมีเงินคงเหลือมากเกินความจำเป็นจะตกเป็นภาระของรัฐบาล เพราะวงเงินดังกล่าวไม่สามารถนำไปหาดอกผลได้

[caption id="attachment_129347" align="aligncenter" width="378"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกร เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกร[/caption]

อย่างไรก็ตาม เงินคงคลังคงเหลือระหว่างปีนั้น ปกติอาจจะปรับลดหรือเพิ่มแกว่งไปตามรายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บเข้ามา เช่นเดียวกันในบางเวลาที่รัฐบาลมีรายจ่ายซึ่งก็เป็นการเบิกจ่าย หรือหากช่วงไหนที่มีความสามารถในการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายทางรัฐบาลสามารถอาศัยกฎหมายกู้ได้ตามงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายได้อยู่แล้ว ที่สำคัญหากเทียบภาระหนี้ของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศนั้น จะเห็นได้ว่าภาระหนี้ของรัฐบาลไทยอยู่ในระดับกว่า 42%น่าจะต่ำสุดทั้งในภูมิภาคและระดับโลกขณะที่ประเทศอื่นๆมีภาระหนี้รัฐบาลประเทศอื่นๆสูงกว่าเมืองไทยทั้งนั้น

"การปรับลดลงของเงินคงคลังนั้น มีผลจากเงินรายได้ที่เข้ามาและรายจ่ายที่รัฐบาลต้องใช้ในแต่ละช่วง ซึ่งกระทรวงการคลังไม่จำเป็นต้องกู้เงินมากองไว้มากจนเกินไป อย่างตอนนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มยังเติบโตได้ต่อเนื่องซึ่งจะทำให้รายได้ขยายตัวและมีเงินเข้ามา แต่เงินคงคลังอาจจะลดลงในบางช่วงไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560