รฟม.เซ็น 6 สัญญาสายสีส้ม เริ่มก่อสร้างปี 61เลี่ยงเพิ่มปัญหารถติด

10 ก.พ. 2560 | 00:00 น.
รฟม.ถือฤกษ์วันที่ 9 ก.พ. เซ็น 6 สัญญารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ค่ากว่า 7.9 หมื่นล้านบาท กลุ่มช.การช่างผนึกซิโน-ไทยคว้า 3 สัญญา รองมาเป็นยูนิค ส่วนอิตาเลียนไทยฉายเดี่ยวได้แค่สัญญาเดียว เซ็นปีนี้เริ่มก่อสร้างปีหน้าเหตุเลี่ยงผลกระทบด้านจราจรต่อคนกทม.

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ(วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ตามที่ได้เปิดซองเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1ถึงสัญญาที่ 6 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ- มีนบุรีมาตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 นั้น ขณะนี้ได้ตัวผู้รับเหมาครบทั้ง 6 สัญญาเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม.มีมติเห็นชอบให้มีการเซ็นสัญญาเป็นที่เรียบร้อย ประกอบด้วยสัญญาที่ 1 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-รามคำแหง 12 ได้แก่ กลุ่ม CKST JOINT VENTURE (บริษัทช.การช่าง จำกัด(มหาชน)และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน))

สัญญาที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงรามคำแหง 12- หัวหมาก ได้แก่กลุ่ม CKST JOINT VENTURE (บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)) สัญญาที่ 3 งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดิน ช่วงหัวหมาก-คลองบ้านม้า ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน)

สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า-สุวินทวงศ์ ได้แก่บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจร ได้แก่ กลุ่ม CKST JOINT VENTURE (บริษัทช.การช่าง จำกัด(มหาชน)และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)) และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบราง ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-สุวินทวงศ์ ได้แก่ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)

"กรณีดังกล่าวถือว่าได้ให้มีการเซ็นสัญญาเร็วกว่าแผนเนื่องจากเดิมกำหนดลงนามสัญญาในเดือนพฤษภาคม 2560 คาดว่าเงินจะสะพัดสนองนโยบายของรัฐบาลได้ไม่มากก็น้อย ส่วนการให้บริการหากก่อสร้างแล้วเสร็จสามารถให้บริการตั้งแต่ห้วยขวางไปถึงมีนบุรีโดยไม่ต้องรอให้ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์แล้วเสร็จ ที่ปัจจุบันมีประชาชนชาวชุมชนประชาสงเคราะห์ต่อต้าน สำหรับการเข้าพื้นที่ก่อสร้างในช่วงนี้รฟม.เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรโดยรวมของกทม.จึงขอให้ชะลอการก่อสร้างออกไปก่อน ประกอบกับช่วงดังกล่าวเป็นการออกแบบไปก่อสร้างไปหรือดีไซน์แอนด์บิวท์ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาราว 1 ปี ดังนั้นจึงคาดว่าจะสามารถเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ราวต้นปีนี้หรือต้นปี 2561 สำหรับช่วงนี้จะต้องมีการหารือกับกรุงเทพมหานครเพื่อวางแผนร่วมกันแก้ไขและรับมือปัญหาจราจรไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนต่อไป"

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของรฟม.รายหนึ่งกล่าวว่า ในส่วนความคืบหน้าการพิจารณาถ่ายโอนภาระหนี้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต นั้นล่าสุดจะมีการนำเข้าพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อชี้ชัดกรณีภาระหนี้ทั้งสิ้นกว่า 6 หมื่นล้านบาทที่จะใช้ในโครงการนี้แก่รฟม. ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560