กบง.เลิกอุ้มก๊าซหุงต้มปีหน้า ส่งสัญญาณอิงตามตลาดโลกหยุดคุมโรงแยก

09 ก.พ. 2560 | 00:00 น.
ผู้บริโภคเตรียมทำใจ รับราคาแอลพีจีพุ่งอีก ปล่อยลอยตัวเต็มรูปแบบเริ่มต้นปีหน้า อิงราคาตลาดโลก เลิกควบคุมราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ จากปัจจุบันควบคุมอยู่376 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน กบง. ส่งสัญญาณแล้ว ล่าสุดขยับแล้ว 10 บาทต่อถัง 15 กก.

กระทรวงพลังงานกำลังส่งสัญญาณให้ผู้บริโภครับทราบถึงนโยบายการปล่อยลอยตัวราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีเต็มรูปแบบ โดยจะไม่มีการอุดหนุนราคาเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560ได้เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีทุกภาคส่วนอีก 0.67 บาทต่อกิโลกรัม ส่งผลให้ราคาขายปลีกสะท้อนมาอยู่ที่ 20.96 บาทต่อกิโลกรัม จาก 20.29 บาทต่อกิโลกรัม โดยยังมีเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยรับภาระในการอุดหนุนอยู่ 556 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ถังก๊าซหุงต้มขนาด 15 กิโลกรัม ปรับราคาขึ้นไป 10 บาทต่อถัง

ทั้งนี้ หากไม่เงินจากกองทุนน้ำมันฯมาช่วยอุดหนุนดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาแอลพีจีจะต้องขยับถึง 1.10 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากราคาแอลพีจีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 555 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน จาก 460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนการปล่อยราคาแบบกึงลอยตัวอยู่ หลังจากที่มีการเปิดให้นำเข้าแอลพีจีเสรีได้แล้ว หากระบบการค้าแอลพีจีไม่มีปัญหา การปล่อยลอยตัวเต็มที่จะดำเนินการตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(กธ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังเตรียมความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านระบบการค้าแอลพีจีไปสู่การปล่อยลอยตัวราคาแอลพีจีที่เต็มรูปแบบ คาดว่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป หลังจากที่ได้ยกเลิกการผู้การการนำเข้าแอลพีจี และเปิดให้ผู้ค้าตามมาตรตรา 7 สามารถนำเข้าแอลพีจีได้ โดยจะเริ่มมีการนำเข้าตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไปจากผู้ค้า 3 รายได้แก่ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) นำเข้าในปริมาณ 4.4 หมื่นตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้ามาเพื่อส่งออก ในปริมาณ 2.2 หมื่นตัน และบริษัท ยูนิคแก๊สฯ นำเข้าเพื่อส่งออกในปริมาณ 3,000 ตัน ในขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ มีปตท.เพียงเจ้าเดียวที่นำเข้ามา 1.1 หมื่นตัน เนื่องจากการผลิตในประเทศยังขาดแคลนอยู่ ที่เป็นผลจากการหยุดซ่อมโรงกลั่น

ทั้งนี้ การดำเนินงานถึงวันนี้ถือว่าสามารถปล่อยลอยตัวราคาเป็นแบบกึ่งลอยตัวได้แล้ว เพียงแต่ทางกระทรวงพลังงาน ยังไม่ได้ปรับสูตรราคาอ้างอิงของแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติเป็นไปตามราคาตลาดโลกโดยยังอยู่ที่ระดับ 376 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมันได้ปรับสูตรอ้างอิงตามราคาตลาดโลกแล้วที่ 555 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งการควบคุมราคาหน้าโรงแยกฯนี้ เนื่องจากกระทรวงพลังงานไม่ต้องการให้ราคาแอลพีจีขายปลีกในประเทศปรับขึ้นมากเกินไป จะทำให้ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้น

ดังนั้น ในช่วงปีนี้ทางกระทรวงจะเตรียมความพร้อม และจะค่อยๆ แก้ปัญหาของระบบการค้าแอลพีจี โดยเฉพาะการยกเลิกควบคุมราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ และคาดว่าการปล่อยลอยตัวแอลพีจีเต็มที่ได้น่าจะเริ่มจากปี 2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกแอลพีจีขยับตามราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นไปได้

ขณะที่การป้องกันปัญหาการขาดแคลนแอลพีจีในประเทศนั้น ล่าสุดกบง.ก็ได้มอบหมายให้กรมฯไปดำเนินการออกประกาศกระทรวงตามพ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการการขาดแคลนแอลพีจี โดยให้กรมฯมีอำนาจในการสั่งผู้ค้ามาตรา 7 สามารถนำเข้าแอลพีจีแบบฉุกฉินได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560