ทางพิเศษกะทู้ - ป่าตอง ยกระดับเศรษฐกิจเมืองภูเก็ต

05 ก.พ. 2560 | 11:00 น.
โครงการนี้คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2558-2562(แผนยุทธศาสตร์ PPP)รับการบรรจุตามแผนดังกล่าวในกลุ่มกิจการพัฒนาถนนที่มีการเก็บค่าผ่านทางในเมือง

โดยจัดอยู่ในแผนปฏิบัติการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ปี 2560 นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท จำแนกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 2,160 ล้านบาท ค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง 428 ล้านบาท และค่าก่อสร้างรวมค่าควบคุมงานประมาณ 7,909 ล้านบาท ทั้งนี้หากครม.อนุมัติให้ดำเนินโครงการจะมีการประเมินมูลค่าและออกแบบรายละเอียดให้ทราบมูลค่าโครงการที่ชัดเจนอีกครั้ง

นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการกทพ. กล่าวถึงความคืบหน้าและรูปแบบโครงการนี้ว่าเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทางประมาณ 3.98 กิโลเมตร เชื่อมจากอำเภอกะทู้ไปยังป่าตอง ขนาดอุโมงค์กว้าง 17.10 เมตร ความลึกของอุโมงค์ 12.60 เมตร ผ่านเส้นทางถนนทางหลวง สาย 4029 ไปยังเขตอำเภอกะทู้ ที่ปัจจุบันจะต้องใช้เส้นทางอ้อมเขานาคเกิดซึ่งใช้ระยะเวลานับชั่วโมง

สำหรับจุดเริ่มต้นโครงการจะอยู่ในช่วงกม.0+000 ของถนนพระเมตตาซึ่งจะเป็นทางยกระดับในบริเวณดังกล่าวโดยจะเป็นทางยกระดับระยะทางเกือบ 1 กิโลเมตร แล้วจะต่อเนื่องด้วยเส้นทางอุโมงค์ผ่านป่าเขานาคเกิด ระยะทางช่วงที่เป็นอุโมงค์ประมาณ 1.85 กิโลเมตร จากนั้นจะเป็นทางยกระดับเพื่อเข้าสู่จุดด่านเก็บค่าผ่านทางซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ควบคุมทางพิเศษ ไปตามถนนทางหลวงหมายเลข 4029 ระยะทาง 1.23 กิโลเมตรไปสิ้นสุดโครงการที่ กม.3+980 ในเขตอำเภอกะทู้

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ)คาดว่าในเร็วๆนี้จะได้รับการพิจารณาเพื่อเปิดทางให้นำรายงานดังกล่าวไปประกอบการเสนอครม.อนุมัติให้เปิดประมูลโครงการในช่วงปลายปีนี้

“อุโมงค์เชื่อมจากอำเภอกะทู้ไปยังอำเภอป่าตอง ของจังหวัดภูเก็ตโครงการหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเชื่อมโยงเส้นทางโลจิสติกส์และเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยว ช่วยลดต้นทุนการเดินทาง ประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการคมนาคมขนส่งได้อย่างมากด้วย ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปีหากเริ่มประกวดราคาปลายปีนี้ ปลายปี 2562 ก็จะได้ใช้บริการ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560