ธรรมศาสตร์ เผย 5 ยุทธศาสตร์สู่ “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำ”

30 ม.ค. 2560 | 09:38 น.
ธรรมศาสตร์ เตรียมปั้นกลุ่มวิชา “ศาสตร์ผู้ประกอบการ” ให้ ป.ตรีทุกสาขาเลือกเรียน รับเศรษฐกิจ 4.0 พร้อมชี้ผลผลิตมหาวิทยาลัยต้องมี “Global Mindset” พร้อมทักษะสื่อสารได้ 3 ภาษา ชู 5 ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย ปั้นสถาบัน สู่ “มหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำ”

[caption id="attachment_127762" align="aligncenter" width="503"] ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์[/caption]

วันที่ 30 มกราคม 2560   -ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ประเทศชาติจะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีเสถียรภาพ จากการมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ ซึ่งสามารถเติบโตได้จากการมีนวัตกรรมที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ อันเกิดจากการผสมผสานองค์ความรู้ เข้ากับความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง แต่ทั้งนี้ การที่บุคคลจะมีทักษะการคิดสร้างสรรค์ดังกล่าวได้ย่อมเกิดจากการเรียนรู้และการปลูกฝังโดยสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมในเรื่องหลักสูตร และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่เน้นหนักในเรื่องการคิดสร้างสรรค์ สู่การต่อยอดในสิ่งใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับทักษะการจัดการที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในปี 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย พร้อมเดินหน้าปั้นบุคลากรรุ่นใหม่ให้ครบเครื่องด้วยพื้นฐานความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง ผนวกรวมกับทักษะการคิดประกอบการอย่างสร้างสรรค์ ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์การบริหารสถาบัน ในปี 2560-2564 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1)    สร้างบัณฑิตที่มีคุณลักษณะ GREATS ทักษะผู้ประกอบการ และ 3 ภาษา  การสร้างบัณฑิตให้มีคุณลักษณะ GREATS ที่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มีองค์ความรู้แบบบูรณาการในศาสตร์ต่างๆ มีบุคลิกภาพที่ดี มีทักษะการเป็นผู้นำ และสามารถเข้ากับสังคมที่หลากหลายได้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตรแอคทีฟ เลินนิ่ง (Active Learning) ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ และค้นคว้าด้วยตนเอง เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่ลึกซึ้ง ควบคู่ไปกับการมีทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ที่มีแนวคิดด้านการบริหารจัดการที่สร้างสรรค์ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรผู้ประกอบการกว่า 1,000 รายวิชา และบรรยากาศที่เอื้อต่อคิดพัฒนาธุรกิจ  รับเศรษฐกิจ 4.0 รวมไปถึงการพัฒนาทักษะการมองการทำงานและการใช้ชีวิตที่เข้าในบริบทของโลก (Global Mindset) และยังต้องมีความสามารถในการสื่อสาร 3 ภาษา นอกเหนือจากภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ผ่านการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมารวมถ่ายทอดองค์ความรู้ในภาษาที่ 3 เป็นต้น

2)    สร้างสรรค์งานวิจัย และนวัตกรรมเชิงพัฒนาต่อสังคมและโลก  การสร้างสรรค์ผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างบูรณาการและยั่งยืน ทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ตลอดจนสามารถพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากล ตามแนวนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ ของรัฐบาล อาทิ งานวิจัยด้านประชาธิปไตย (Democracy) ด้านเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) ด้านสุขภาพ (Health) ด้านอาหารเกษตรแปรรูปและเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Agriculture & Bio-Tech) ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy & Environment) ด้านดิจิตอล (Digital) ด้านหุ่นยนต์อัจริยะ (Intelligent Robot) และด้านสร้างสรรค์ (Creative) ผ่านการบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นสหสาขาวิชา การพัฒนาคลัสเตอร์การวิจัย การพัฒนาระบบฐานข้อมูลงานวิจัย และการจัดสรรทุนแก่นักศึกษาปริญญาเอก ที่เข้าศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 เป็นต้น

3)    สร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศ  การผลักดันให้เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ระดับหน่วยงาน จนไปถึงระดับบุคคล ผ่านการผนึกความร่วมมือระหว่าง 3 สถาบัน คือ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเชีย ในการเตรียมจัดตั้งโครงการ NEXT (New Entrepreneurial Exchange and Transfer) สู่การเชื่อมโยงพื้นที่ให้เป็นเขตนวัตกรรม (Startup District) เพื่อบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการหน้าใหม่ พร้อมทั้งสร้างระบบนิเวศน์ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมสัญชาติไทยให้เพิ่มมากขึ้น อันจะช่วยผลักดันขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติได้อย่างยั่งยืน

4)    มุ่งเน้นคุณภาพการให้บริการวิชาการและบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล การมุ่งยกระดับคุณภาพการให้บริการวิชาการและบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานสากล โดยการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางคลินิก (Clinical excellence Center) โดยความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณะในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผ่านการนำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีความเชี่ยวชาญให้บริการแก่ชุมชนและประชาชน อาทิ โครงการศูนย์ความเป็นเลิศหัวใจ เส้นเลือดและ เมตาโบลิซึ่ม โครงการศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ (การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย) และโครงการพรีเมี่ยมคลินิก รวมไปถึงการสร้างชุมชนต้นแบบ (Community Base) โดยการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการที่ตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ มีชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาวะที่ดี อาทิ โครงการเทคนิคการตรวจเยี่ยมฟาร์มเพื่อน การส่งต่อความรู้ด้านการทำเกษตรอินทรีย์แก่ชุมชน ด้วยมุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีจากการบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัย ตลอดจนมีความรู้ในการตรวจสอบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งในฟาร์มของตนเองและฟาร์มเพื่อนได้อย่างแม่นยำ ฯลฯ

5)  มุ่งสู่ความมั่นคง และยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย  การพัฒนาระบบงานและศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ผ่านการมุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานและพัฒนาระบบงานให้มีประสิทธิภาพสูง อาทิ การจัดทำระบบการเงิน งบประมาณ และพัสดุ การจัดทำระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานด้านการวางแผน ด้านวิจัย ด้านประกันคุณภาพ และด้านวิเทศสัมพันธ์ ฯลฯ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง อย่างการจัดทำระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยมี KPI รายบุคคลตามตำแหน่งงานที่ชัดเจน การจัดอบรมบุคลากรด้านภาษาต่างประเทศ และการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับองค์กรชั้นนำในต่างประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเชื่อมั่นว่า ยุทธศาสตร์การบริหารสถาบันดังกล่าว จะช่วยปูทางเศรษฐกิจชาติให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน จากการมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงคุณภาพและชะลอการขยายตัวเชิงปริมาณ ด้วยการปั้นบัณฑิตยุคใหม่ให้มีความครบถ้วนด้วยทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญในสาขาเฉพาะทาง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย การสร้างสรรค์นวัตกรรมและงานวิจัยสัญชาติไทย ที่เอื้อประโยชน์แก่สาธารณชนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ผ่านการผนึกความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชาติอย่างยั่งยืน ด้วยมุ่งหมายให้บัณฑิตสามารถก้าวสู่การเป็นบุคลากรสำคัญหนึ่งของประเทศ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจชาติให้รุดหน้าได้ในอนาคต สู่การตอกย้ำภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในมิติใหม่ ในการก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้นำของไทย “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4.0” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ศาสตราจารย์ ดร. สมคิด กล่าว