กฟผ.มั่นใจโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่เป็นอุปสรรคในการลดก๊าซเรือนกระจก

28 ม.ค. 2560 | 01:40 น.
กฟผ.เผยให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กับพัฒนาโรงไฟฟ้า ตอบสนองการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายที่ได้แสดงเจตจำนงต่อเวทีโลก ยืนยันโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกตามแผน PDP 2015 ที่กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้าไว้แล้ว

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)เปิดเผยหลังจากตัวแทน กฟผ. เข้าร่วมประชุมใน COP21 และ COP 22 ว่า กฟผ.สามารถลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิตไฟฟ้าตามที่ประเทศไทยได้ลงนามสัตยาบันข้อตกลงปารีส(COP21)  และได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างมีเป้าหมายต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) อย่างเป็นทางการ จำนวน 2 ฉบับ แบ่งเป็น 1) เป้าหมายการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกก่อนปี พ.ศ. 2563 (NAMAs) ลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 7 ถึง 20 จากระดับการปล่อยในสภาวะเศรษฐกิจปกติ (Business as Usual : BAU) ในภาคพลังงานและภาคขนส่ง ภายในปี 2563 และ 2) เป้าหมายการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2563 (INDCs) ลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 จาก BAU ในทุกภาคส่วน (Economy-Wide) ภายในปี 2573 ซึ่งผลการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกในปี 2557 ที่ผ่านมา กฟผ. สามารถลดก๊าซ  เรือนกระจกได้มากกว่า 3.2 ล้านตัน

สำหรับการลดก๊าซเรือนกระจกของ กฟผ. นั้น ในกรณีที่จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่จะใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง เครื่องที่ 4 – 7 ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าเดิม ได้กำลังไฟฟ้ามากขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงน้อยลง เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเดิม

นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าเดิม โดยการเปลี่ยนอุปกรณ์บางชิ้นส่วนทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าให้สูงขึ้น เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพกังหันไอน้ำของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หน่วยที่ 10 และ 11 จากการวิเคราะห์ พบว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพได้ประมาณร้อยละ 1.5 ซึ่งช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 360,000 – 380,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี

ทั้งยังมีการเดินหน้าพัฒนาพลังงานทดแทนตามแผน PDP 2015 โดย กฟผ. ปรับแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจาก 500 MW เป็น 2,000 MW พร้อมกับการเร่งขยายระบบส่งให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และในอนาคตจะมีการพัฒนาโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid ซึ่งเป็นโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมาบริหารจัดการ ควบคุมการผลิต ส่ง และจ่ายพลังงานไฟฟ้า สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (Distributed Energy Resource : DER) อีกด้วย

อนึ่ง ในเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศภายหลังปี พ.ศ. 2563 นักวิชาการได้อธิบายกรอบความคิดในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งแม้ว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมตามแผน PDP 2015 แต่จำเป็นต้องพิจารณาแผนการดำเนินการที่เกี่ยวข้องควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะพบว่าในภาพรวมจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่ประเทศไทยได้ลงนามสัตยาบันไว้อย่างแน่นอน