พร้อมเพย์จุดเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสด...แม้กระทบต่อค่าธรรมเนียมแบงก์ แต่สร้างผลบวกทางเศรษฐกิจระยะยาว

27 ม.ค. 2560 | 10:52 น.
ประเด็นสำคัญ

·โครงการพร้อมเพย์ (PromptPay) สำหรับ “โอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล” เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ม.ค. 2560 นี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการพร้อมเพย์คงสร้างผลบวกสุทธิต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านบาทต่อปี ในระยะ 10 ปีข้างหน้า แม้แรงหนุนในช่วงปีแรกๆ อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก็ตาม

·สำหรับผลของโครงการพร้อมเพย์ต่อรายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 กรณีพื้นฐานนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า น่าจะอยู่ที่ราว 3.1-3.6 พันล้านบาท ภายใต้สมมติฐานอัตราการยอมรับนวัตกรรมของผู้ใช้บริการ (Adoption Rate) ในปีแรกของโครงการพร้อมเพย์ที่ร้อยละ 60 ซึ่งผลกระทบดังกล่าวกลายเป็นโจทย์ระยะยาวที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องวางแผน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการมีความตื่นตัวมากขึ้น ควบคู่กับผลักดันนวัตกรรมบริการใหม่ๆ เพื่อสร้างฐานค่าธรรมเนียมที่มั่นคง

แล้วก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) สำหรับ “บริการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล” พร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 27 ม.ค. 2560 ซึ่งโครงการดังกล่าว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแผนงาน National e-Payment อย่างเป็นทางการ ก่อนจะต่อยอดไปสู่โครงการอื่นๆ ในอนาคต ในการนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการประเมินภาพที่จะเกิดขึ้น และผลกระทบที่เกี่ยวข้องหลังจากนี้ โดยมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

kb0127-1-a

•พร้อมเพย์: โครงการที่เปลี่ยนโฉมโครงสร้างระบบการชำระเงินของไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โครงการพร้อมเพย์ที่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคลในอัตราที่ถูกลงมาก จนถึงไม่มีค่าบริการเลยเมื่อเทียบกับค่าบริการการโอนของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน คงกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมานิยมการชําระเงิน/โอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของแผนงาน National e-Payment ที่ต้องการลดการใช้เงินสดในระบบการเงินไทย อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของการปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด “Cashless Society” ตามที่คาดหวังจากโครงการ National e-Payment คงอยู่ที่การเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งในด้านความเชื่อมั่นต่อระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ซึ่งทางการมีกฎหมายกำกับควบคุมอีกชั้นหนึ่ง) รวมถึงการเพิ่มความคุ้นเคยให้กับผู้ใช้บริการ ผ่านการออกแบบ User Interface ให้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน และเหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัย ซึ่งปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ผนวกกับความพร้อมของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และเครือข่ายการชำระเงินสำหรับรองรับธุรกรรมจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่สนับสนุนให้การใช้ธุรกรรมการเงินของลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ปรับเพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการใช้เงินสดอย่างในปัจจุบัน

kb0127-2-b •พร้อมเพย์: สัดส่วนครึ่งหนึ่งของคนทำงานลงทะเบียนกับโครงการพร้อมเพย์แล้ว ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ ธันวาคม 2559 พบว่า ผู้ลงทะเบียนในโครงการพร้อมเพย์เบื้องต้นมีจำนวนราว 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 48 ของผู้มีงานทำ  ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันดีที่บ่งชี้ถึงการยอมรับนวัตกรรมของผู้บริโภค โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า โครงการ “พร้อมเพย์” จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค ในแง่ของการประหยัดต้นทุนการโอนเงินและชำระเงิน โดยทุกๆ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทดแทนการใช้จ่ายผ่านเงินสด จะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้บริโภคมากกว่าร้อยละ 30 โดยเฉลี่ย รวมถึงมีส่วนช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดของระบบการเงินไทยในภาพรวม

•พร้อมเพย์: ผลต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ปี 2560 น่าจะอยู่ในช่วงประมาณ 3.1-3.6 พันล้านบาท แต่ผลบวกสุทธิทางเศรษฐกิจจากโครงการพร้อมเพย์ในระยะ 10 ปี จะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมจากการโอนเงินและการเรียกเก็บเงินคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 11.9 ของรายได้ค่าธรรมเนียม  ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ (ซึ่งราวร้อยละ 5 เป็นรายได้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการพร้อมเพย์) และเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4 ของรายได้รวมทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในกรณีพื้นฐาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ในปี 2560 น่าจะอยู่ที่ราว 3.1-3.6 พันล้านบาท ภายใต้สมมติฐานอัตราการยอมรับนวัตกรรมของผู้ใช้บริการ (Adoption Rate) ในปีแรกของโครงการพร้อมเพย์ที่ร้อยละ 60

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมนั้น คาดว่า เมื่อโครงการพร้อมเพย์เดินหน้าอย่างเต็มที่แล้ว คงสร้างผลบวกสุทธิต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจในระยะ 10 ปีข้างหน้าได้ไม่ต่ำกว่า 1.9 พันล้านบาทต่อปี คำนวณจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลดลงของต้นทุนการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ (ตามการเปลี่ยนจากธุรกรรมเงินสดไปสู่ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต้นทุนถูกกว่า) หักลบกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ในช่วงปีแรกๆ มูลค่าทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาจจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากยังอยู่ในระยะแรกของการลงทุนและปรับปรุงกระบวนการต่างๆ

kb0127-3-c ในระยะถัดไป เมื่อโครงการพร้อมเพย์สำหรับการโอนเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P) ดำเนินการได้อย่างราบรื่นแล้ว คงจะเห็นการเชื่อมต่อระบบพร้อมเพย์ระหว่างบัญชีของนิติบุคคลกับนิติบุคคล (B2B) บัญชีนิติบุคคลกับลูกค้าบุคคล (B2C) และบัญชีลูกค้าบุคคลกับนิติบุคคล (C2B) ที่จะตามมาในอีกไม่นาน พร้อมๆ กับการขยายเครือข่ายร้านค้ารับบัตร หรือเครื่อง EDC/MPOS ตลอดจนการผลักดัน e-Tax Invoice กับ e-Receipt ตามโครงการ National e-Payment ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สังคมไทยจะเป็นสังคมไร้เงินสดช้าหรือเร็วเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมเชิงโครงสร้างของระบบการชำระเงินไทย และ Adoption Rate ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปริมาณการใช้จ่ายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งระบบ  มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปที่ประมาณร้อยละ 50 ได้ภายในไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2569 จากปี 2560 นี้ที่น่าจะมีสัดส่วนราวร้อยละ 30 เท่านั้น (จากข้อมูลล่าสุดปี 2558 ที่ร้อยละ 23.8) ส่วนการใช้เงินสดและเช็ค  ของลูกค้าที่ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 70 จะปรับลดลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 50

ขณะที่ โจทย์หลักของธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อจากนี้นั้น นอกจากจะเน้นไปที่การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบ และกระตุ้นให้มีการทำธุรกรรมผ่านโครงการนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและลดต้นทุนธุรกรรมให้มีความชัดเจนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็คงต้องผลักดันนวัตกรรมบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ และค่าธรรมเนียมประเภทอื่นๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบในระยะแรกจากโครงการพร้อมเพย์ รวมถึงสร้างฐานรายได้ที่มั่นคง นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งยังต้องวางแนวทางบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ อาทิ สาขา หรือ ATM ที่อาจมีบทบาทลดลง รวมถึงพัฒนาทักษะความสามารถ (Upskill) ของพนักงานที่เกี่ยวข้องให้ตอบโจทย์ทิศทางผลิตภัณฑ์และบริการที่จะมีความซับซ้อนมากขึ้นได้ในอนาคต

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย