สภาเกษตรกรฯผลักดันเกษตรกรยางพาราเข้าสู่การเยียวยาเหตุน้ำท่วมใต้       

23 ม.ค. 2560 | 04:52 น.
นายธีรพงศ์  ตันติเพชราภรณ์ ประธานคณะกรรมการด้านยางพารา สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้กล่าวถึง กรณีประสบภัยน้ำท่วมพื้นที่ภาคใต้ จนสวนยางพาราของเกษตรกรเกิดความเสียหายจำนวนมากว่า ปริมาณพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมี 6 – 7 แสนไร่  ยางพาราอายุต่ำกว่า 2 ปีครึ่ง 90,000 ไร่เศษ / เกิน 2 ปีครึ่งถึง 7 ปี  142,000 กว่าไร่ / 7ปีขึ้นไป 503,000 กว่าไร่ ได้รับความเสียหายมากพอสมควร แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 เขต ได้แก่ เขตภาคใต้ฝั่งอันดามัน ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยค่อนข้างน้อยหรือบางส่วน  เขตฝั่งอ่าวไทย  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับผลกระทบมาก ส่วนแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบนั้น สภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยคณะกรรมการด้านยางพาราจะนำวิธีการ,แนวทางมาตรการเยียวยาชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม กยท.ได้ดำเนินการออกระเบียบแนวทาง โดยแบ่งความช่วยเหลือตามอายุของต้นยาง ได้แก่

ต้นยางที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีครึ่ง จะได้รับการจัดงวดงานใหม่ในสวนปลูกแทน เป็นค่าแรงขุดหลุม พันธ์ยาง ปุ๋ย ในการปลูกซ่อม โดยจะเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลมาชดเชยในส่วนที่เกษตรกรได้ดำเนินการไปแล้วแต่เกิดความเสียหาย หลังจากนั้นจะจ่ายเงินตามปกติ ต้นยางมีอายุ 2 ปีครึ่ง แต่ไม่เกิน 7 ปี ให้จัดงวดงานภายในงวด และนำเงินคงเหลือในงวดที่ผ่านมารวมกับค่าเงินค่าแรงและวัสดุในงวดถัดไป อีก 1 งวดมาจ่ายให้ก่อน  ต้นยางมีการเปิดกรีดแล้วเสียหาย จนเสียสภาพสวน ให้ขอรับการปลูกแทนตามระเบียบ กยท. จำนวนไร่ละ 16,000 บาท ภายใต้กรอบงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ซึ่งเบื้องต้นได้ข้อสรุปว่าจะขอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลในการปลูกทดแทนวงเงิน 455 ล้านบาท  เพื่อให้เกษตรกรนำไปฟื้นฟูสวนยางร่วมกับเงินช่วยเหลือที่รัฐบาลให้รายละ 3,000/ไร่ เพื่อเยียวยาเบื้องต้น รวมทั้งเสียโอกาสในการกรีดยางในช่วงน้ำท่วม ซึ่งเป็นสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง กยท.ไว้แล้ว โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 1.4 ล้านราย ทางด้านของเกษตรกรที่ปลูกยางในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ก็จะต้องเสนอให้ความช่วยเหลือเพราะได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยเช่นเดียวกัน