สธ.จัดหน่วยแพทย์ 183 ทีมดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้

22 ม.ค. 2560 | 10:03 น.
กระทรวงสาธารณสุข ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 183 ทีม  ให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ทุกวัน มีผู้รับบริการรวมกว่า 81,000 คน ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคไข้หวัด ปวดเมื่อยและน้ำกัดเท้า  ตรวจประเมินสุขภาพจิตรวม 7,995 คน ในจำนวนนี้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า 100 คน ส่งทีมเยียวยาจิตใจใกล้ชิดเป็นระยะจนครบ 1 ปี หรือจนกว่าปกติ

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัยทั้งทางรถและทางเรือทุกวัน ทั้งตั้งจุดให้บริการในหมู่บ้าน ให้บริการให้สุขศึกษา 116,206 คน มีผู้รับบริการตรวจรักษาโรคสะสม 81,000 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ปวดเมื่อยและน้ำกัดเท้า ส่งทีมแพทย์เข้าไปเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยงแล้ว 31,564คน  โดยศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ส่งยาชุดน้ำท่วมไปช่วยพื้นที่น้ำท่วมรวม 281,000 ชุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 110,000 ชุด  ชุมพร 35,500 ชุด สงขลา 30,000 ชุด  นราธิวาส สุราษฎร์ธานีและปัตตานี จังหวัดละ 20,000 ชุด ตรัง 15,000 ชุด ยะลาและพัทลุงจังหวัดละ 10,000 ชุด ประจวบคีรีขันธ์ 7,000 ชุด ระนอง 2,000 ชุด กระบี่ 1,000 ชุดและพังงา 500 ชุด นอกจากนี้ยังได้ส่งยาน้ำกัดเท้าและยาตำราหลวงเพิ่มเติมอีก 1 แสนกว่าชุด

ทั้งนี้ ทีมสุขภาพจิตได้ตรวจคัดกรองประเมินสุขภาพจิตผู้ที่เครียดจากสถานการณ์น้ำท่วมจำนวน 7,995 คน เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสมและทันท่วงที ในจำนวนนี้มีผู้ที่เครียดในระดับสูงเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า 100 ราย ได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูจิตใจ รวมทั้งติดตามเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง   ให้ได้รับการเยียวยาจิตใจตามระยะเวลาจนครบ 1 ปีหรือจนกว่าจะหมดความเสี่ยง โดยให้คนในครอบครัวช่วยดูแลร่วมกับเจ้าหน้าที่ ในส่วนประชาชนทั่วไปได้ทีมสุขภาพจิตได้ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนเอง ฝึกการบริหารจิตใจในสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้ปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมได้

สำหรับโรคภัยสุขภาพที่พบได้ในช่วงน้ำท่วมอีกเรื่องคือ การได้รับการบาดเจ็บถูกของมีคมบาด เศษไม้ทิ่มแทง พบมากถึง 499 คน ส่วนใหญ่จะเกิดบาดแผลที่เท้า จึงขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ หากจำเป็นขอให้ใส่รองเท้าที่มีพื้นหนา และใส่กางเกงขายาว เพื่อป้องกันการเกิดแผลขีดข่วน หลังจากขึ้นจากน้ำแล้วให้รีบชำระล้างร่างกายให้สะอาด ผู้ที่มีบาดแผลขอให้ทำแผลทุกวันและหากแผลมีอาการผิดปกติ เช่น บวมแดง มีหนอง ให้รีบพบแพทย์ที่หน่วยเคลื่อนที่โดยเร็ว