การ์เมนต์ไทยในต่างแดนโต เล็งส่งออกปีนี้พุ่ง3.5หมื่นล้าน สวนทางภายในประเทศคาดติดลบ

23 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
การ์เมนต์ไทยโตในต่างแดน คาดปีนี้ยอดส่งออกจากการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านทะยาน 3.5 หมื่นล้านบาท หลังค่ายใหญ่กว่า 25 รายชักแถวปักฐานในเวียดนามลาว กัมพูชา ใช้สิทธิจีเอสพีส่งเข้ายุโรป-อเมริกา สวนทางส่งออกจากฐานผลิตในไทยที่คาดปี 60 ยังอยู่ในแดนลบ

สินค้าเครื่องนุ่งห่มหรือการ์เมนต์ของไทยในอดีตเคยเป็นอุตสาหกรรมสร้างชาติ และส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่จากวันเวลาที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อใช้ประโยชน์ด้านแรงงาน และสิทธิพิเศษในการส่งออก ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมการ์เมนต์ไทยในต่างแดนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และที่ปรึกษา สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยกับ "เศรษฐกิจ" โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้บริษัทผู้ผลิตและส่งออกเครื่องนุ่งห่มของไทยที่ได้เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านรวมประมาณ 25 ราย ได้แก่ในเวียดนาม กัมพูชา ลาว และในประเทศอื่นๆ จะมียอดส่งออกจากประเทศที่เข้าไปลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 35 บาท/ดอลลาร์) จากในปีที่ผ่านมาคาดจะมีมูลค่าประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 2.1 หมื่นล้านบาท)เหตุผลสำคัญจากลูกค้าต้องการลดต้นทุน และใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)นำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป(อียู) และสหรัฐอเมริกาในอัตราภาษีต่ำ ขณะที่สินค้าที่ผลิตในไทยไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวแล้ว

"ราคาสินค้าที่ผู้ผลิตไทยตั้งราคา สำหรับสินค้าที่ผลิตในไทยและในประเทศเพื่อนบ้านที่เขามีฐานผลิตอยู่จะตั้งราคาเท่ากัน แต่ส่วนหนึ่งลูกค้าอยากให้ไปผลิตและส่งออกในประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพีเพื่อต้องการลดคอสต์ และอีกส่วนมีลูกค้าขาจรมาลงออร์เดอร์ในไทย แต่เราไม่มีกำลังผลิตให้ก็เอาไปลงที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเวลานี้ผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายก็มีการขยายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มไนซ์ ไฮเทคฯ ลิเบอร์ตี้กรุ๊ป ทองไทยฯ ฮงเส็งฯ โอเรียนตอลฯ โกลด์ไมน์ เป็นต้น"

สำหรับการส่งออกเครื่องนุ่งห่มจากฐานผลิตในไทยในปีนี้ คาดจะขยายตัวลดลงจากในปี 2559 ไม่มาก โดยคาดมูลค่าจะติดลบไม่เกิน 2% จากในปีที่แล้วคาดจะส่งออกได้มูลค่าประมาณ 2,437 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวลดลงจากปี 2558 ที่ประมาณ -8% มีปัจจัยหลักจากผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยไปขยายยอดส่งออกจากฐานผลิตในประเทศเพื่อนบ้านแทน

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ผลิตและส่งเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ ได้วิเคราะห์ตัวเลขการส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 ที่ส่งออกได้ 2,211.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในจำนวนนี้ตลาดส่งออก 5 อันดับแรกประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เบลเยียม เยอรมนี และจีน(ดูตารางประกอบ) คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก 35.2, 15.2, 5.2, 3.6 และ 3.3% ตามลำดับ และมีอัตราการขยายตัว -10.1, -4.1, +25.2, -16.7 และ +30.7% ตามลำดับ

ทั้งนี้ในส่วนของตลาดสหรัฐฯที่ติดลบมากผลจากผู้ประกอบการรายใหญ่ไปเพิ่มการส่งออกสินค้าจากฐานผลิตในเวียดนามและกัมพูชาที่ได้จีเอสพีไปสหรัฐฯ แทนไทย ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นแม้จะติดลบ แต่ก็นำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้าจากจีน ขณะที่จีนรวมฮ่องกงมีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นมากจากฐานตัวเลขการนำเข้าก่อนหน้านี้ที่ยังต่ำ มีปัจจัยจากโรงงานผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของจีนที่ตั้งอยู่ตามเมืองชายฝั่ง เช่น เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เสินเจิ้น นานกิง เวลานี้ค่าจ้างแรงงานสูงกว่าในไทยถึง 2 เท่า ดังนั้นสินค้าที่ผลิตเน้นจำนวนหรือเป็นแมสจึงหันมานำเข้าจากเวียดนามและไทยเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560