นักเศรษฐศาสตร์ มธ.หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบหนัก 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

19 ม.ค. 2560 | 05:54 น.
วันที่ 19 มกราคม 2560 – นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) คาดปลายปี 60 ไทยอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น ตามภาวะความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ทั้งนี้การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นจะส่งผลให้กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้างเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ย 1.098%

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวุฒิ ศรีพินิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่างประเทศ อาทิ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา แนวนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และการเมืองในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้นในช่วงปลายปี 2560 เพื่อปรับสมดุลและรับมือกับภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายตามความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ หากประเทศไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เท่ากับว่าต้นทุนทางการเงินและต้นทุนในการประกอบการอื่นๆ ของภาคเศรษฐกิจจะสูงขึ้นด้วย โดยแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ซึ่งผลจากงานวิจัย “ผลของนโยบายการเงินต่อระบบเศรษฐกิจ: ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ซึ่งศึกษาผลกระทบของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออัตราผลตอบแทนในภาคเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลา 24 เดือน พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ รวมไปถึงการก่อสร้าง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดจากการขึ้นดอกเบี้ย โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ย 1.098% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เป็นฐานการผลิตของประเทศ

ในขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมกระดาษและสิ่งพิมพ์การท่องเที่ยวและการพักผ่อน การบริการทางการแพทย์ กลุ่มยา และพาณิชยกรรม มีอัตราผลตอบแทนการลงทุนติดลบเฉลี่ยเพียง 0.339% เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจน้อย อันสะท้อนให้เห็นว่าการใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสร้างสมดุลในระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐจึงควรดำเนินมาตรการการเงินอื่นๆ ควบคู่ไปกับการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ การส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สินเชื่อพิเศษ การลดค่าธรรมเนียมการโอนเงิน-ชำระเงิน ฯลฯ เพื่อเป็นการเหยียบคันเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0

นอกจากผลกระทบในภาคอุตสาหกรรมข้างต้น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังส่งผลกระทบในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยแตกต่างกันไป อันเนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาค โดยผลงานวิจัยระบุว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมีประสิทธิภาพในการควบคุมระดับเงินเฟ้อสูงที่สุดในภาคกลาง มีผลอย่างอ่อนๆ ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก และไม่มีประสิทธิภาพสำหรับภาคตะวันตก และภาคใต้ เพราะฉะนั้นนอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เกิดความสมดุลของเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศแล้ว ภาครัฐควรศึกษาและดำเนินมาตรการการเงินที่สอดคล้องกับกิจกรรม และภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภาพย่อย อันจะสะท้อนกลับมาเป็นเศรษฐกิจในภาพใหญ่ที่ยั่งยืน