‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’มองตลาดหุ้นปี 60 เติบโต  ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนำ การเมืองนิ่ง ดอกเบี้ยต่ำ

18 ม.ค. 2560 | 06:50 น.
‘ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล’ ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 60 เติบโต หลังมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายด้าน ทั้ง GDP ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.2%-3.5% ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพและความคาดหวังการเมืองที่จะเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ตามโรดแม็ป  แต่อาจมีความผันผวนเป็นระยะจากปัจจัยภายนอก ด้าน “วิน พรหมแพทย์” แนะธีมลงทุนแบบ Smart Dividend ลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มการจ่ายปันผลในระดับสูงแต่มีศักยภาพเติบโต กระแสเงินสดเหลือพร้อมขยายกิจการ

นายวิน  พรหมแพทย์  CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2560 มีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีก่อนที่มีปัจจัยลบจากภายในและภายนอกประเทศเข้ามากระทบความเชื่อมั่นการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล มีมุมมองเชิงบวกต่อภาวะตลาดหุ้นไทยในปีนี้และประเมินว่าดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น ภายหลังจากที่ในปี 2559 ดัชนีได้ปรับเพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 20%

โดยปัจจัยบวกที่จะเป็นแรงสนับสนุนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในปีนี้มาจากการคาดการณ์อัตรา GDP จะเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 3.2%-3.5% ซึ่งเป็นผลจากภาครัฐเร่งการเบิกง่ายงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมกว่า 5 แสนล้านบาท การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศตลอดจนภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเติบโตได้ดี ในขณะที่ค่าเงินบาทถือว่ามีเสถียรภาพกว่าเงินตราสกุลอื่นๆ ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุนในหุ้นปันผลมีความน่าสนใจจากผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูง มุมมองด้านสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพและคาดว่าจะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ภายในปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 ตามโรดแม็ปที่วางไว้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ

ในภาพรวมตลาดหุ้นไทยคาดการณ์การเติบโตของกำไรตลาดหุ้นไทย (EPS Growth) ปี 2560 จะอยู่ที่ 12% (ที่มา Bloomberg, ธันวาคม 2559) ส่วนแรงขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติน่าจะมีไม่มากแล้ว หลังจากที่สัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2555 จากเดิมเคยมีสัดส่วนสูงสุดที่ 36% ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 29% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี อย่างไรก็ตาม จากการที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นประมาณ 20% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นจากทั่วโลกที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด จึงประเมินว่าการเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นในปีนี้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นแต่ค่อนข้างจำกัด โดยปัจจุบัน Valuation (มูลค่า) ของหุ้นไทย ณ ปัจจุบันซื้อขายที่ค่า Forward PE ประมาณ 14 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีย้อนหลังเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคนี้ก็ยังถือว่าต่ำกว่า ดังนั้นโอกาสของตลาดหุ้นไทยยังถือน่าสนใจ (ที่มา Bloomberg, ธันวาคม 2559)

นายวิน กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยถึงแม้ว่ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อาจจะมีความผันผวนเป็นระยะ จึงแนะนำการให้ลงทุนสำหรับตลาดหุ้นไทยในปีนี้ภายใต้ธีม ‘Smart Dividend’ โดยทีมผู้จัดการกองทุนหุ้นไทยมีการกำหนดกระบวนการคัดเลือกลงทุนเพื่อให้ได้หุ้นคุณภาพ 3 ประการคือ 1) อัตราเงินปันผลดี มีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ดีในระดับสูง 2) ศักยภาพเติบโต กระแสเงินสดดี ศักยภาพเติบโต มีโอกาสสร้างกำไรในอนาคต และ 3) บรรษัทภิบาลดี บริษัทคุณภาพหลักบรรษัทภิบาล CG Scoring ระดับ 3 ดาวขึ้นไปจัดโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการไทย

จากเกณฑ์การคัดเลือกทีมผู้จัดการกองทุนได้จัดทำพอร์ตจำลอง Back Test Model พบว่าพอร์ตจำลองสามารถสร้างผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลังได้ถึง 113.8% สูงกว่าเมื่อเทียบกับ SET100 อยู่ที่ 81.7% มองว่าการเลือกลงทุนในหุ้นปันผลสูงและมีศักยภาพเติบโตนั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าและมีความผันผวนต่ำกว่าอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับดัชนีอ้างอิง

บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล จึงเตรียมเปิดขาย IPO กองทุนใหม่ ‘กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ไทย ไดนามิก อินคัม อิควิตี้’ CIMB-PRINCIPAL Thai Dynamic Income Equity Fund (CIMB-PRINCIPAL TDIF) ในวันที่ 19-27 มกราคม 2560 ซึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่มีขนาดกองทุน 3,000 ล้านบาท ราคาเสนอขาย IPO ที่ 10 บาทต่อหน่วย ค่าธรรมเนียมการซื้อ 1% ของมูลค่าหน่วยลงทุน เงินลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท และจะพิจารณาจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนประมาณปีละ 2 ครั้ง

โดยกองทุนดังกล่าวมีนโยบายลงทุนในตราสารทุนหรือหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ที่เน้นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่ดีหรือเป็นบริษัทที่มีประวัติการจ่ายปันผลที่ดีและอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ กองทุนฯ อาจพิจารณาลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) รวมถึงตราสารอื่นๆ หรือหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยมีนโยบายลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่ต่ำกว่า 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน