ยางรถจีนขน 3 หมื่นล. ลงทุน ‘ต้าตี้-ซานตง’รับEEC-‘หลักชัย’เล็งเพิ่มใช้ยางล้านตัน

19 ม.ค. 2560 | 06:30 น.
ทัพยางรถยนต์จีนบุกตั้งฐานผลิตในไทยต่อเนื่อง ล่าสุดค่ายต้าตี้ หนึ่งในยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตยางรถสิบล้อ เตรียมทุ่ม 2 หมื่นล้านตั้งโรงงานในนิคมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง ดึงไทยฮั้วยางพาราถือหุ้น 30% ขณะอีกหนึ่งรายใหญ่จากมณฑลซานตงยืนยันขนเม็ดเงินลงทุนอีก 1 หมื่นล้านตั้ง รง.ผลิตยางรถเก๋ง

จากที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลกแต่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาราคายางพาราทั้งในและต่างประเทศอยู่ในช่วงขาลง รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายส่งเสริมคนไทยและต่างชาติตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มปริมาณการใช้วัตถุดิบยางในประเทศซึ่งจะมีผลต่อการแก้ไขปัญหาราคายางให้มีเสถียรภาพในระยะยาวนั้น ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของนักลงทุนจากจีนได้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตล้อยางรถยนต์ในไทยอย่างต่อเนื่อง

นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จ.ระยอง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุดบริษัทได้บรรลุผลการเจรจากับต้าตี้กรุ๊ป อีกหนึ่งผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่จากประเทศจีน ภายใต้แบรนด์ "เสินโจว"ที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตยางรถสิบล้อในนิคมฯหลักชัยเมืองยาง โดยการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 เฟส กำลังผลิตเฟสละ 1.2 ล้านเส้น รวม 2.4 ล้านเส้น ใช้เงินลงทุนเฟสละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท รวมสองเฟสกว่า 2 หมื่นล้านบาท

สำหนับการลงทุนของต้าตี้กรุ๊ปในครั้งนี้ยังได้บรรลุผลการเจรจาในเบื้องต้นในการที่จะร่วมลงทุนกับบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด(มหาชน) ในนาม บริษัท ต้าตี้(ไทยแลนด์)จำกัด เบื้องต้นทางต้าตี้จะถือหุ้น 70% และไทยฮั้วถือหุ้น 30% ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นเรื่องเพื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

"โรงงานผลิตยางรถสิบล้อที่จะตั้งขึ้น ในเฟสแรกมีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และเริ่มส่งออกได้ในปี 2561 เป้าหมายส่งออกสัดส่วน 90-95% และขายในไทย 5-10% โดยในส่วนของการส่งออกมีเป้าหมายที่ตลาดอาเซียนรวมถึงตลาดอาเซียนบวก 6 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ที่มีความตกลงเอฟทีเอ(เขตการค้าเสรี)กับไทยแล้ว และสินค้าได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้า นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่ตลาดสหรัฐอเมริกา และยุโรป"

ขณะเดียวกันนอกจากต้าตี้แล้ว ทางนิคมยังได้บรรลุความตกลงในเบื้องต้นกับบริษัทผู้ผลิตยางรถเก๋งอีกหนึ่งรายใหญ่จากมณฑลซานตงของจีน(ยังไม่ขอเปิดเผยรายชื่อ) ซึ่งความเป็นไปได้ที่จะมาลงทุนในไทยครั้งนี้มีมากถึง 90%โดยการผลิตจะมุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลักเป้าหมายตลาดอาเซียน รวมถึงขายในไทยบางส่วน จะได้ติดตามและเจรจาในรายละเอียดต่อไป

นายหลักชัยกล่าวถึงภาพรวมของนิคมฯหลักชัยเมืองยางว่า ในเฟสแรก 2,200 ไร่ มีการลงทุนแล้ว 3 ราย (ยังไม่รวมอีก 2 รายข้างต้น) ทั้งหมดเป็นบริษัทจากจีน ได้แก่ 1 บริษัทเซ็นจูรี่ไทร์ฯ(ประเทศไทย) มาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์รถยนต์ทั่วไป และยางล้อรถบรรทุก ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้ทำการผลิตและส่งออกแล้ว 2.บริษัท เจ เอส วาย ลาเท็กซ์ โปรดักส์ฯ (ไทยแลนด์) ผลิตหมอนจากยางพารา เพื่อส่งออกและขายในประเทศ และ 3.หวาอี้ กรุ๊ป ที่ร่วมทุนกับไทยเบคก้าฯ สัดส่วน 85 : 15 เพื่อผลิตยางล้อรถยนต์ 6 ล้อ 10 ล้อ ยางรถบัส และยางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป้าหมาย 2 ล้านเส้นต่อปี ส่งออก 99% ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งโรงงานจะแล้วเสร็จและเริ่มส่งออกในเดือนเมษายนนี้

"นอกจากบริษัทข้างต้นแล้วทางนิคมฯหลักชัยเมืองยาง ยังอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนอีก 4-5 รายจากหลายประทศ ขณะนี้ในเฟสแรกเราขายพื้นที่ได้แล้วประมาณ 1,500 ไร่(รวม 2 รายใหม่แล้ว) ยังเหลืออีกประมาณ 500 ไร่ ในระยะต่อไปมีแผนจะพัฒนาในเฟสที่ 2 ในพื้นที่ติดกัน ตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 ไร่ โดยในเฟสที่ 2 นี้ ไม่ได้มุ่งเพียงอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่จะขยายไปยังคลัสเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตยางรถยนต์ เช่น เหล็กลวด คาร์บอนแบล็ก เป็นต้น โดยตั้งเป้าจะมีโรงงานขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 15-20 โรงงานเข้ามาตั้งในนิคมของเรา"

ทั้งนี้นายหลักชัย กล่าวว่า การลงทุนของต่างชาติในนิคมหลักชัยเมืองยางจะมีเม็ดเงินลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท และช่วยเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศเป็นวัตถุดิบ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตันภายใน 10 ปีนับจากนี้ (จากปัจจุบันใช้อยู่ประมาณ 1.5 แสนตัน/ปี) จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ราคายางในประเทศมีเสถียรภาพ ไม่ตกต่ำเหมือนในอดีต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560