วิเคราะห์นํ้าท่วมใต้ ‘อานนท์’ชี้ผังเมืองปัญหาใหญ่

16 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด ตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2559 ลากยาวข้ามมาถึงต้นปี 2560 มีการวิเคราะห์หาสาเหตุ ว่าอะไรที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงกว่าทุกครั้งในรอบหลายปี ทั้งที่เป็นช่วงฤดูฝนปกติของภาคใต้

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ให้สัมภาษณ์กับ “สปริงนิวส์” ถึงสาเหตุน้ำท่วมภาคใต้ขณะนี้ว่า หลายฝ่ายมองว่าได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา เป็นเพียงลานีญาของปี 2559 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะลานิญาปี 2559 จบตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ผลกระทบเหลืออีกนิดหน่อย ซึ่งฝนระรอกนี้ตกตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ตกทุกวันทุกพื้นที่แม้จะปริมาณไม่มาก แต่มีความต่อเนื่องทำให้น้ำมีปริมาณมาก มีการสะสมในที่ลุ่มต่ำ

นายอานนท์ วิเคราะห์สถานการณ์อีกว่า ฤดูฝนภาคใต้รอบนี่้เป็นฤดูฝนปกติในพื้นที่ จะหมดปลายเดือนกุมภาพันธุ์ แต่เพราะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงขึ้นมาอีก จึงอยากฝากไปถึงหน่วยงานในพื้นว่าอย่าเพิ่งถอนกำลังกลับมา ขอให้รอดูสถานการณ์อีก 1 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าสถานการณ์คลี่คลาย เพราะฝนจากมรสุมคาดการณ์ยากกว่าดีเปรสชันหรือพายุโซนร้อนที่สามารถคาดการณ์เส้นทางได้

สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงเกินกว่าหน้าฝนธรรมดา พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน เดิมบางพื้นที่เคยเป็นแก้มลิงหรือที่ระบายน้ำ ตอนนี้มีที่ดินจำกัดทำให้เห็นความเสียหายมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของผังเมือง ที่หลายหน่วยงานควรตระหนัก และเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องเก็บข้อมูล เพื่อจะได้ทราบว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหนที่ทำให้น้ำระบายไม่ได้ ซึ่งจิสด้ามีข้อมูลเหล่านี้ สามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบเพื่อทำเป็นข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐ ท้องถิ่น ประชาชน ผู้ประกอบการ ในพื้นที่ เพราะขณะนี้ปัญหาเรื่องการระบายเป็นปัญหาที่หนักที่สุดแล้ว

“อดีตในภาคใต้มีพื้นที่ว่างจำนวนมาก การระบายจะดีกว่านี้ ความเสียหายจะไม่มาก แต่ปัจจุบันรูปแบบของพื้นที่เปลี่ยนไปมาก ความเสียหายส่วนใหญ่อย่าไปโทษฝนทั้งหมด แต่เป็นเรื่องภายในที่เราอาจจะหลงลืมไป ในเรื่องของการวางแผนการใช้ที่ดินที่อาจจะไม่รอบคอบเท่าที่ควร เพราะเรารุกล้ำไปโดยไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา”

ผอ.จิสด้า บอกถึงการแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่ภาคใต้ว่า ปัญหาเหล่านี้สามารถใช้วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีช่วยในการวางแผน แก้ปัญหาหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาเราปล่อยให้แต่ละคนทำตามอำเภอใจ อยากจะทำอะไรก็ทำก็ส่งผลให้เห็น ซึ่งกรุงเทพมหานครก็เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน

ดังนั้นภาคใต้ครั้งนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่มีการถอดบทเรียนเพื่อจะทำให้เกิดการแก้ไข รวมทั้งอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ปีนี้ไม่เกิดปัญหา เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ใหญ่มาแล้ว แต่เขามีการวางระบบต่างๆไม่ได้มีแค่คลอง แต่มีการปรับทางระบายน้ำให้ดีขึ้น เพราะลำพังมีแค่ 4 คลอง ก็ไม่ได้ช่วยอะไร และมีเรื่องของการเตือนภัย ที่ทำดีมาก ซึ่งสามารถเป็นตัวอย่างได้หากจะมีการวางแผนการบริหารจัดการความร่วมมือจากทุกฝ่าย

นายอานนท์ แนะนำอีกว่า การแก้ไขปัญหาผังเมืองต้องทำใน 2 ระดับ คือ ระดับที่ต้องใช้หน่วยงานเพื่อดูภาพใหญ่การจัดสรรน้ำต้องทำอย่างไรในระดับลุ่มน้ำ ต้องดูสภาพธรรมชาติ อย่าไปฝืน แต่ต้องยอมรับว่าทางที่เป็นทางระบาย แก้มลิง ปัจจุบันมีคนไปตั้งถิ่นฐาน ต้องไปบอกเขาเพราะจะให้ย้ายออกคงไม่ได้ ต้องดูว่าจะป้องกันได้อย่างไร จะผันน้ำไปทางไหน และถ้าผันน้ำแล้วกระทบคนอื่นจะชดเชยอย่างไร

ส่วนอีกระดับคือระดับพื้นที่ต้องใช้ท้องถิ่น ประชาชน เข้ามาทำงานร่วมกันต้องมีความเข้าใจร่วมกันในการแก้ไขปัญหา เพราะต้องบอกว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้ก็จะเป็นแบบนี้อีก ถ้ามีฝนตกหนักแบบนี้หากไม่ทำอะไรจะเป็นแบบนี้อีก

“ปัญหาภาคใต้แก้ได้ง่ายกว่าภาคกลางหรือตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีภูเขาตรงกลาง มีที่ลุ่มที่ราบกว้างไม่เกิน 20 กิโลเมตรก็จะถึงทะเล ถ้าบริหารแนวแคบ 20 กิโลเมตรได้ก็จะสามารถระบายน้ำออกไปได้ และสามารถกักเก็บไว้ในฤดูแล้งได้ เพราะพื้นที่ไม่ได้ใหญ่เมื่้อเทียบกับภาคกลาง ที่นับตั้งแต่นครสวรรค์จนมาถึงกรุงเทพฯ ระยะทาง 400 กิโลเมตร จะระบายยาก ส่วนอีสานไม่มีต้นน้ำ เป็นที่ราบสูงที่หมด แต่ภาคใต้มีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่ไม่ใหญ่ที่สามารถบริหารจัดการได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560