กรมชลฯเผยน้ำท่วมภาคใต้หลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว ระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง

08 ม.ค. 2560 | 08:59 น.
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลายจังหวัดเริ่มคลี่คลาย กรมชลประทาน ยังคงระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปช่วยเหลือเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างมาก  ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดมสรรพกำลังทั้งจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ลงไปช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะได้มีการเตรียมการล่วงหน้าไว้แล้ว แต่ต้องมีการสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด สรุปสถานการณ์ได้ ดังนี้

จังหวัดชุมพร ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตอำเภอละแม อำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี และอำเภอเมืองชุมพร หากไม่มีฝนตกบริเวณต้นน้ำเพิ่มเติม คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ ภายใน 1 - 2 วันนี้ กรมชลประทาน โดยโครงการชลประทานชุมพร ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนประชาชน ลงสู่คลองสามแก้วก่อนจะเร่งระบายลงสู่ทะเล นอกจากนี้ ยังได้เตรียมเครื่องสูบน้ำที่พร้อมจะออกไปสนับสนุนการระบายน้ำเพิ่มเติม หากมีการร้องขออีก 30 เครื่องด้วย

จังหวัดสุราษฏร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก อำเภอนาสาร อำเภอเมือง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอบ้านาเดิม อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพะงันพื้นที่น้ำท่วมได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ตามที่ราบลุ่มต่ำบางแห่ง

สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำตาปี ปริมาณน้ำที่ไหลหลากผ่านอำเภอพระแสง อำเภอเคียนซา และอำเภอพุนพิน มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 0.13 เมตร 0.92 เมตร และ0.43 เมตร ตามลำดับ โดยที่อำเภอพระแสง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ชั่วโมงละ 3 – 5 เซนติเมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม คาดว่าจะมีน้ำล้นตลิ่งในวันที่ 8 ม.ค.60 เวลาประมาณ 22.00 – 01.00 น. ส่วนที่อำเภอเคียนซา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ชั่วโมงละ 1 - 2เซนติเมตร หากไม่มีฝนตกเพิ่มเติม คาดว่าจะล้นตลิ่งในวันที่ 10 ม.ค.60 เวลาประมาณ 01.00 – 04.00 น. และที่อำเภอพุนพิน ซึ่งได้รับอิทธิพลขึ้น-ลงของน้ำทะเล ระดับน้ำยังคงอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง

โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี ได้ใช้รถ JCB(รถขุดตักหน้าขุดหลัง) เข้าทำการขุดท่อระบายน้ำในพื้นที่ หมู่1 ต.เวียง อ.ไชยา เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำ พร้อมซ่อมแซมถนนทางเข้า-ออก หมู่บ้านที่น้ำตัดขาดบริเวณกม.8+300 ของคลองส่งสายใหญ่ฝั่งขวา ฝายคลองไชยา พร้อมทั้ง ขอรับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ ติดตั้งในคลองท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ และในแม่น้ำตาปี รวม 4 จุด และติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 เครื่อง ช่วยเหลือบริเวณน้ำท่วมขังที่ไม่สามารถระบายเองได้

จังหวัดตรัง ยังคงมีน้ำท่วมในเขตอำเภอนาโยง อำเภอเมือง อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ อำเภอห้วยยอด อำเภอกันตัง ระดับน้ำสูงประมาณ 50 - 80 เซนติเมตร ส่วนแม่น้ำตรัง ระดับน้ำในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอรัษฎา        มีแนวโน้มลดลง แต่ในช่วงที่ไหลผ่านอำเภอเมืองลงมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ ภายใน 10-15 วัน  โครงการชลประทานตรัง ได้สนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 5 เครื่อง บริเวณสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดตรัง เพื่อเตรียมพร้อมรับอุทกภัย พร้อมทั้งได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและรายงานสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อทราบ และยังได้เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมอีก 5 เครื่อง รถขุด 2 คัน และรถบรรทุกอีก 2 คัน

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม รวมทั้งสิ้น 23 อำเภอ ประชาชนได้รับผลกระทบ 98 ตำบล 626 หมู่บ้าน 72,337 ครัวเรือน ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร ปัจจุบันระดับน้ำในหลายพื้นที่มีแนวโน้มลดลง สภาพน้ำท่าในคลองสายหลักในพื้นที่ตอนล่าง บริเวณที่น้ำจะระบายออกสู่ทะเล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น   ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำยังคงมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ ทั้งนี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าบริเวณพื้นที่ตอนบนลาดเชิงเขา จะเข้าสู่ปกติภายใน 2-3 วัน ส่วนบริเวณพื้นที่ตอนกลาง ระดับน้ำลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ปกติภายใน 3-5 วัน และบริเวณพื้นที่ราบลุ่มตอนล่าง ระดับน้ำเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องรับน้ำจากพื้นที่ตอนบน คาดว่าจะเข้าสู่ปกติภายใน 15-20 วัน

กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 15 ได้แจ้งสถานการณ์น้ำให้กับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ให้ทราบถึงปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช และแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้ง ได้สนับสนุนติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำจำนวน 75 เครื่อง โดยเป็นการช่วยเหลือในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช 25 เครื่อง อีกส่วนได้ส่งไปช่วยเหลืออำเภอทุ่งสง 2 เครื่อง และอำเภอปากพนัง 48 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 57 เครื่อง เป็นการช่วยเหลือในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชจำนวน 8 เครื่อง และอำเภอปากพนัง 49 เครื่อง

ในส่วนของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปากพนังตอนบน ได้สนับสนุนเครื่องจักรไปเปิดทางน้ำ 1 เครื่อง และยังได้รับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยอีก 50 เครื่องจากกองทัพเรือ สำหรับติดตั้งในบริเวณประตูระบายน้ำชะอวด-แพรกเมือง 30 เครื่อง และประตูระบายน้ำฉุกเฉินอีก 20 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร รวมไปถึงคลองระบายน้ำของกรมชลประทาน และคลองธรรมชาติ พร้อมทั้งขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทัพเรือ และส่วนกลางอีกจำนวน 40 เครื่อง และ 15 เครื่องตามลำดับ จังหวัดพัทลุง มีพื้นที่น้ำท่วม 11 อำเภอ ในเขตอำเภอเมือง อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอ ป่าพะยอม อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอตะโหมด ระดับน้ำสูงประมาณ 30 – 60 เซนติเมตร ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำสายหลักมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากฝนหยุดตกสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 2-3 วัน ยกเว้นพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลาจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1-2 อาทิตย์ โครงการชลประทานพัทลุง ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 6 เครื่อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในเขตอำเภอระโนดทุกตำบล อำเภอกระแสสินธุ์ทุกตำบล อำเภอสทิงพระ 4 ตำบล และอำเภอสิงหนคร 2 ตำบล ระดับน้ำสูงประมาณ 30 - 50 เซนติเมตร ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจากจังหวัดพัทลุงและนครศรีธรรมราชบางส่วน จะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำโดยใช้คั้นกั้นน้ำกระแสสินธุ์ อาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 9 เครื่อง รวมไปถึงใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 4 สถานี ช่วยระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร บ้านเรือน จากคลองระโนด คลองพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก และคลองสาขา ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาและทะเลอ่าวไทยต่อไปแล้ว

จังหวัดนราธิวาส (ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนราและลุ่มน้ำสายบุรี) เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำบางนรา มีน้ำท่วมในเขตอ.สุไหงปาดี อ.ระแงะ อ.ยี่งอ และอ.เมือง ซึ่งเป็นบริเวณริมลำน้ำสาขาไหลลงแม่น้ำบางนรา ส่วนในลุ่มน้ำโก-ลก น้ำจากแม่น้ำโก-ลก ได้เอ่อล้นตลิ่งน้ำท่วมในเขตเทศบาลสุไหงโก-ลก หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงในระยะต่อไป และจะเข้าสู่สภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์  กรมชลประทาน ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง พร้อมกับใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจำนวน 4 สถานี เพื่อช่วยระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไป

จังหวัดยะลา มีพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำปัตตานี บริเวณพื้นที่อำเภอยะหา และอำเภอเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำ  ส่วนอำเภออื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่น้ำไหลหลากและท่วมชั่วคราว จากระดับน้ำที่ล้นฝั่งตั้งแต่วันที่ 3-4 มกราคม60 ที่ผ่านมา สำหรับในลุ่มน้ำสายบุรี มีน้ำท่วมบริเวณพื้นที่อำเภอรามัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยาง และฟาร์มตัวอย่าง  ปัจจุบันปริมาณฝนมีแนวโน้มลดน้อยลง ประกอบกับแนวโน้มระดับในแม่น้ำสายหลักต่างๆเริ่มลดลง คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม จะกลับสู่สภาวะปกติ ภายใน 5-6 วัน โครงการชลประทานยะลา ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง เร่งระบายน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่องแล้ว

จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่น้ำท่วมในลุ่มน้ำปัตตานี  บริเวณอำเภอหนองจิก และอำเภอเมือง ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำใกล้แม่น้ำ ส่วนอำเภออื่นๆ จะเป็นพื้นที่น้ำไหลหลากท่วมชั่วคราว เนื่องจากมีน้ำล้นฝั่ง ตั้งแต่วันที่ 3-4 ม.ค. 60     ที่ผ่านมา สำหรับในลุ่มน้ำสายบุรี มีน้ำท่วมบริเวณพื้นที่อำเภอมายอ อำเภอยะหริ่ง และอำเภอสายบุรี ระดับน้ำไม่สูงมากนัก น้ำในแม่น้ำยังไม่ล้นตลิ่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกยางและปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันปริมาณฝนมีแนวโน้มลดลง และ ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักมีแนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม จะกลับสู่สภาวะปกติ ภายใน 5-6 วัน

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี  ได้ทำการเปิดระบายน้ำจากคลองระบาย D4 D8 D2 และ D1 พร้อมทั้งดำเนินการขุดลอกกำจัดผักตบชวา บริเวณหน้าประตูระบายน้ำตุยงและบริเวณด้านท้าย เพื่อช่วยในการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้นแล้ว และยังได้ร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่น บูรณาการเร่งระบายน้ำให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

ทั้งนี้กรมชลประทาน ได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่จากทั่วประเทศ ลงไปช่วยเหลือเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ภาคใต้ จากเดิมที่ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด จึงต้องเสริมศักยภาพการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมจำนวนเครื่องสูบน้ำจากส่วนกลางที่ส่งลงไปสนับสนุน และเครื่องสูบน้ำเดิมที่เดินเครื่องสูบระบายน้ำในแต่ละพื้นที่ก่อนหน้านี้ รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 627 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีเครื่องผลักดันน้ำที่ได้จัดส่งลงไปสนับสนุนเพิ่มเติมในแต่ละพื้นที่ เมื่อรวมกับเครื่องผลักดันน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163 เครื่อง

ขณะนี้กรมชลประทาน อยู่ในระหว่างการจัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ลงไปสนับสนุนเพิ่มเติมจากชุดแรกที่ได้จัดส่งไปก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้(9 ม.ค. 60) หน่วยสนับสนุนชุดที่สองจะเดินทางไปถึงพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือเร่งระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมคืนความสุขให้แก่พี่น้องชาวภาคใต้โดยเร็วที่สุดต่อไป