‘ฟอร์ด-จีเอ็ม-โตโยต้า’ฝุ่นตลบ ปรับแผนรับนโยบายทรัมป์

10 ม.ค. 2560 | 07:00 น.
แม้จะยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่การแสดงความคิดเห็นของนายโดนัลด์ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาผ่านทางโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ ก็สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับบรรดาบริษัทเอกชน ที่ไม่เพียงต้องติดตามความเห็นของทรัมป์ที่ขยันโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ แต่ยังต้องปรับกลยุทธ์และสนองตอบนโยบายของว่าที่ผู้นำอย่างรวดเร็วฉับไวอีกด้วย

ล่าสุดคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ พลันที่ทรัมป์ทวีตเมื่อต้นสัปดาห์ (3 ม.ค.) เกี่ยวกับกรณีที่บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์สฯ (จีเอ็ม) นำเข้ารถเก๋งเชฟวี่ครูซ ที่ผลิตในเม็กซิโกมาจำหน่ายผ่านดีลเลอร์รถยนต์ในสหรัฐอเมริกาโดยไม่ต้องเสียภาษี พร้อมสำทับตอนท้ายเหมือนเป็นการยื่นคำขู่ว่า “จะผลิตในสหรัฐอเมริกาหรือจะจ่ายภาษีข้ามแดนก้อนโต” ผู้บริหารของจีเอ็ม ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา ก็ต้องรีบออกมาชี้แจงทันทีว่า รถเชฟวี่ครูซทุกคันที่จำหน่ายอยู่ในตลาดสหรัฐฯ เป็นรถที่ประกอบในโรงงานของจีเอ็มที่เมืองลอร์ดส์ทาวน์ ในมลรัฐโอไฮโอ ส่วนรถที่ผลิตในโรงงานประเทศเม็กซิโกนั้น เป็นเชฟวี่ครูซรุ่น 5 ประตู (แฮตช์แบ็ก) ที่มุ่งผลิตป้อนตลาดประเทศอื่นๆทั่วโลก จะมีก็เพียงจำนวนน้อยนิดเท่านั้นที่นำเข้ามาจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ โดยเริ่มจำหน่ายในช่วงไตรมาสสามของปีที่ผ่านมา

ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) ที่สหรัฐฯทำไว้กับแคนาดาและเม็กซิโกตั้งแต่ปี 2537 ทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯข้ามแดนเข้าไปตั้งโรงงานในเม็กซิโกเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีของข้อตกลงดังกล่าว รวมทั้งประโยชน์จากแรงงานต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับค่าจ้างแรงงานในสหรัฐอเมริกา แต่ภายใต้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างการจ้างงานภายในประเทศของว่าที่ผู้นำคนใหม่ ด้วยเป้าหมายต้องการให้สหรัฐฯกลับมายิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ดูเหมือนผู้บริหารของบริษัทผลิตรถยนต์เหล่านี้จำเป็นต้องเร่งปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับทิศทางลมที่เปลี่ยนผันเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าข้ามแดน (border tax) อัตราสูงถึง 35%

ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทรัมป์ได้ทวีตวิพากษ์วิจารณ์บริษัท ฟอร์ด ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อีกค่ายหนึ่งที่กำลังมีแผนจะไปลงทุนกว่า 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งโรงงานแห่งใหม่ในเม็กซิโก การส่งสัญญาณของทรัมป์ทำให้ฟอร์ดตัดสินใจยกเลิกแผนการดังกล่าวแล้วประกาศจะหันมาลงทุน 700 ล้านดอลลาร์ขยายโรงงานในรัฐมิชิแกนแทน นายบิล ฟอร์ด ประธานบริษัทฟอร์ด เปิดเผยด้วยว่า เขาได้โทรศัพท์แจ้งทรัมป์ถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ในการชี้แจงเหตุผลต่อสื่อ ผู้บริหารของฟอร์ดกล่าวว่า การยกเลิกแผนสร้างโรงงานในเม็กซิโกแล้วหันมาต่อขยายโรงงานที่มีอยู่ในรัฐมิชิแกนซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา เป็นเพราะความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่นิยมรถคันรถเล็กๆ หันมานิยมรถครอสโอเวอร์และรถเอนกประสงค์ (SUV)มากกว่า ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงงานในเม็กซิโกซึ่งฟอร์ดใช้เป็นฐานสำหรับการผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็ก เช่นรุ่นโฟกัส

ส่วนกรณีของจีเอ็มนั้น นายเกล็น จอห์นสัน ประธานสหภาพแรงงานของจีเอ็มในเมืองลอร์ดส์ทาวน์ มลรัฐโอไฮโอ ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงาน ออกมาปฏิเสธเกี่ยวกับแรงกดดันทางการเมืองเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าโรงงานที่โอไฮโอนั้นไม่ได้ติดตั้งสายการผลิตสำหรับรถรุ่นแฮตช์แบ็ก และอันที่จริงปริมาณการผลิตรถรุ่นนี้ในประเทศเม็กซิโก ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตของโรงงานในรัฐโอไฮโอ

[caption id="attachment_123816" align="aligncenter" width="500"] เชฟวี่ ครูซ รุ่นแฮตช์แบ็ก (5 ประตู) ของจีเอ็มที่ผลิตในเม็กซิโก เชฟวี่ ครูซ รุ่นแฮตช์แบ็ก (5 ประตู) ของจีเอ็มที่ผลิตในเม็กซิโก[/caption]

 ฟอร์ด-จีเอ็ม-โตโยต้ารับปาก โฟกัสฐานผลิตในสหรัฐฯ

แม้จะไม่มีบริษัทใดออกมายอมรับอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ที่เปลี่ยนแผนหันมามุ่งให้ความสำคัญกับฐานการผลิตในสหรัฐอเมริกากันมากขึ้นในเวลานี้เป็นเพราะได้รับสัญญาณจากว่าที่ผู้นำ แต่ในฝั่งของทรัมป์เองซึ่งมีกำหนดสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 20 มกราคมนี้ เขาไม่ได้รีรอเลยที่จะสร้างผลงานเกี่ยวกับการดึงการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐอเมริกา เช่นเมื่อเร็วๆนี้ ทรัมป์ได้ประกาศความสำเร็จหลังจากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับนายบิล ฟอร์ด ผู้บริหารของค่ายรถยนต์ฟอร์ด โดยระบุว่าหลังจากที่ได้พบกัน ผู้บริหารของฟอร์ดก็ตกปากรับคำ สัญญากับเขาว่าจะรักษาฐานการผลิตรถรุ่นลินคอล์น เอ็มเคซี ไว้ที่เมืองหลุยส์วิลล์ มลรัฐเคนตั๊กกี้ จากเดิมที่เคยมีแผนจะโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเม็กซิโก

หากจะถามว่าผู้ประกอบการเองมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” หรือ America First ของโดนัลด์ทรัมป์ นายมาร์ค ฟีลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของฟอร์ด ให้ความเห็นว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็กที่ชะลอตัวลงทำให้บริษัทไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังผลิตในต่างประเทศ (เม็กซิโก)และส่วนต่อขยายโรงงานที่รัฐมิชิแกนจะมุ่งเน้นไปที่ยานยนตร์แห่งอนาคต นั่นก็คือ รถยนต์ไฟฟ้าและรถที่ขับเคลื่อนได้เองแบบไร้คนขับ (autonomous vehicle) บริษัทเองมีความคาดหวังในเชิงบวกเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของผู้นำคนใหม่ว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เช่น มาตรการลดอัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและนิติบุคคล รวมทั้งมาตรการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านต่างๆ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจ สำหรับแผนการต่อขยายฐานการผลิตในเมืองแฟล็ทร๊อค มลรัฐมิชิแกนนั้นมีมูลค่าการลงทุน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ถึง 700 ตำแหน่ง

ผู้บริหารของฟอร์ดย้ำว่า บริษัทสนับสนุนนโยบายเชิงรุกเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ pro-growth policy ของโดนัลด์ทรัมป์ เพราะเป็นจักรกลสำคัญที่จะเสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯกลับสู่ยุคแห่งความรุ่งเรืองทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงอีกครั้ง ซึ่งสำหรับฟอร์ดเองนั้น หมายรวมถึงการมุ่งหน้าสู่การผลิตรถยนต์แห่งอนาคตไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ไฮบริดที่บริษัทมีแผนจะนำเสนอออกมา 7 รุ่นภายใน 5 ปีข้างหน้า หนึ่งในนั้นจะเป็นรถปิคอัพไฮบริดF-150 และรถ SUV ไฟฟ้าที่สามารถวิ่งได้ระยะทางถึง 300 ไมล์เมื่อชาร์จไฟเต็ม

นอกจากค่ายรถอเมริกันเองแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติในสหรัฐฯอย่างโตโยต้าก็พลอยต้องปรับกลยุทธ์ตามด้วย เพราะบริษัทก็เป็นผู้ผลิตอีกรายหนึ่งที่ถูกทรัมป์ทวีตขู่ไว้เมื่อกลางสัปดาห์ (5 ม.ค.) นี้เองว่า ถ้าบริษัทยังเดินหน้าแผนการผลิตรถรุ่นโคโรลา ซึ่งเป็นรถขนาดเล็ก ในโรงงานแห่งใหม่ที่ประเทศเม็กซิโก แทนที่จะผลิตในโรงงานสหรัฐฯ ก็ให้เตรียมตัวเจอกับภาษีสินค้าข้ามชายแดนอัตราสูง

นายอากิโอะ โทโยดะ ประธานโตโยต้า ประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า เขามองนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นโอกาสมากกว่าที่จะเห็นเป็นอุปสรรค บริษัทยังคงมีแผนการผลิตรถเล็กในเม็กซิโกเช่นเดิม (การผลิตรถโคโรลารุ่นใหม่ในโรงงานที่เม็กซิโกจะเริ่มในปี 2562) แต่จะไม่ลดปริมาณการผลิตในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน นับตั้งแต่เข้าตลาดสหรัฐฯเป็นต้นมา โตโยต้าทุ่มเม็ดเงินลงทุนในสหรัฐฯแล้วกว่า 21,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 784,000 ล้านบาท) มีโรงงานผลิต 10 แห่ง ดีลเลอร์ 1,500 ราย และจ้างงานในสหรัฐฯ 136,000 คน โทโยดะกล่าวในงานเลี้ยงสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวเมื่อเร็วๆนี้ว่า

“ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ บริษัทยังคงมีนโยบายเช่นเดิมคือเป็นองค์กรธุรกิจที่ดีมีธรรมาภิบาลจึงมีเป้าหมายไม่ต่างกับนโยบายของทรัมป์นั่นคือการทำให้อุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ซึ่งโตโยต้าเองก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ.2560