ฝุ่นตลบเน็ตหมู่บ้าน ดีเดย์มี.ค.เคาะเปิดประมูล4หมื่นล้าน

09 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
เป้าหมายของรัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางอย่างเต็มตัว โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมในปี 2560 เตรียมลงทุน 36 โครงการมูลค่า 9 แสนล้านบาทเพื่อเพิ่มจีดีพีโต 2%

หากแต่ในส่วน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ก.ดีอี มีโครงการที่จะลงทุนเช่นเดียวกันนั้นก็คือโครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 24,700 แห่ง มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาทโดยมอบหมายให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่บริหารจัดการทั้งหมด

ไม่เพียงเท่านี้ กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ ติดตั้งอีกจำนวน 15,732 หมู่บ้าน มูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

 ทีโอที แบ่งอุปกรณ์เป็น 3 ส่วน

หลังจาก กระทรวงดีอี ทำบันทึกข้อตกลงร่วมให้ ทีโอที ขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ขณะนี้มีกระแสข่าวว่า ทีโอที เตรียมแบ่งพื้นที่ประมูลอุปกรณ์ออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ประมูลสายไฟเบอร์ออพติก2.อุปกรณ์ OLT (Optical Line Terminal) เป็นอุปกรณ์ควบคุมเครือข่าย FTTx (Fiber To The X) โดยจะรับข้อมูลจากทางผู้ให้บริการแล้วส่งข้อมูลไปยังบ้านต่างๆ และ อื่นๆ และ 3. ติดตั้งสายไฟเบอร์ออพติก

อย่างไรก็ตามในส่วนของการติดตั้งก่อนหน้านี้ ทีโอที กำหนดไว้ด้วยกัน 9 เฟสแต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป และจะเริ่มประมูลตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ในส่วนของข่ายสายไฟเบอร์ออพติกในเงื่อนไขระบุไว้ว่าต้องเป็นผู้ผลิตภายในประเทศและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.

“โจทย์ของกระทรวงดีอี บอกว่าต้องให้ทำให้ได้และทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 ทีโอที ก็ต้องทำให้แล้วเสร็จตามนโยบาย และ โปร่งใส” แหล่งข่าวจากบมจ.ทีโอที แสดงความคิดเห็น

 ไอเทล-ล็อกซเล่ย์ ชิงดำ

อย่างไรก็ตามขณะนี้มีเอกชนจำนวน 2 ราย คือ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเทล และ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนแล้วว่าจะร่วมเป็นหนึ่งในผู้ประมูลโครงการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

นายณัฐนัย อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ไอเทล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทฯจะเข้าร่วมประมูลในลักษณะคอนซอร์เตียมร่วมกับบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ไอลิ้งค์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ โดยจะเข้าร่วมประมูลในทุกๆเฟส

เหตุผลที่เข้าร่วมประมูลเพราะบริษัทฯมีความเชี่ยวชาญติดตั้งงานทางด้านเทเลคอม ขณะที่ ไอลิ้งค์ เป็นผู้ผลิตข่ายสายไฟเบอร์ออพติกภายในประเทศมาก่อน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ไอเทล ได้โครงการติดตั้งอุปกรณ์พร้อมทั้งหาวัสดุและอุปกรณ์และงานบริหารคลังสินค้า (โครงการโรงเรียนประชารัฐ) จำนวน 1,281 โรงเรียน มูลค่า 75,861,331 บาท

ขณะที่นายสุรช ล่ำซำกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯเข้าประมูลเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าเอกชนทุกรายที่อยู่ในวงการติดตั้งระบบเครือข่ายน่าจะเข้าประมูลเกือบทุกราย โดยบริษัทฯร่วมประมูลในลักษณะคอนซอร์เตียม มีด้วยกันหมด 3 ราย แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ขณะเดียวกัน ล็อกซเล่ย์ ได้ลงทุนในบริษัทย่อยใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท ล็อกซเล่ย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเพื่อประกอบธุรกิจให้บริการรับเหมาติดตั้งงานด้านสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีด้านสารสนเทศและด้านสาธารณูปโภค ซื้อ ขายวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องทุกประเภท มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท จำนวน 100,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดย ล็อกซเล่ย์ถือหุ้น 100%

 กสทช. ทุ่มอีก 2 หมื่นล.

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่ากสทช.ต้องรับผิดชอบติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวนทั้งสิ้น 19,652 หมู่บ้าน ใช้งบจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนยูเอสโอ) ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น2 ส่วน คือ1.พื้นที่ชายขอบจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ในเดือนมกราคม 2560 จะสำรวจพื้นที่พร้อมกำหนดเทคโนโลยีในการวางโครงข่ายเสร็จสิ้น จากนั้นมีนาคม 2560 เปิดประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้าง มิถุนายน 2560 ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดใช้งานครบทั้ง 3,920 หมู่บ้าน ธันวาคม 2560 และ 2.พื้นที่ชนบท จำนวน 15,732 หมู่บ้าน เดือนมกราคม-เมษายน 2560 สำรวจพื้นที่พร้อมกำหนดเทคโนโลยีที่ใช้งาน ขณะที่เดือนพฤษภาคม-กันยายน 2560 เปิดประกวดราคาจนถึงแล้วเสร็จกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และเปิดใช้ครบทุก 15,732 หมู่บ้าน พฤษภาคม 2561

นอกจากนี้แล้ว กสทช. ยังมีแผนงานที่ยังคงค้างจากปี 2559 เริ่มด้วยการนำคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่ใช้งานอยู่รวมทั้งสิ้น 190 เมก ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิลและทีวีดาวเทียม) บนเทคโนโลยีบรอดแบนด์ โดยจะคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช.จำนวน 80 เมกะเฮิรตซ์ แต่ต้องกำหนดมาตรการเยียวยา เพราะสัญญาสัมปทานของ อสมท ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้น กสทช.อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงานเพื่อทำคู่ขนานเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเยียวยา ภายใต้ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาอยู่

อย่างไรก็ตามหากกฎหมายดังกล่าวผ่าน สำนักงาน กสทช. กำหนดเวลาประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตช์ไว้ในปีนี้ โดยแบ่งจำนวนใบอนุญาต 3-4 ใบอนุญาต แบ่งช่วงคลื่นความถี่แต่ละใบอนุญาตเป็นช่วงละ (ล็อต) 25 เมกะเฮิรติซ์,25 เมกะเฮิรตซ์ และ 30 เมกะเฮิรตซ์ ใช้สำหรับงานโครงข่ายบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์

  กำหนดความเร็ว 30/10 เมกะบิต

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการพัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงจำนวน 24,700 หมู่บ้าน ในลักษณะการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกัน โดยโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหมดจะเป็นทรัพย์สินของกระทรวงดิจิทัลฯ ได้กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ โดยมีเป้าหมายขยายโครงข่าย อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสื่อสัญญาณสายเคเบิลใยแก้วนำแสง (FTTx) ซึ่งการออกแบบและติดตั้งโครงข่ายจะเป็นแบบ เปิด (Open Access Network) ที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อของผู้ให้บริการอื่นได้โดยสะดวก โดยใช้จุดต้นทางจาก Nodeที่เป็นทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเป้าหมายจะขยายให้ครอบคลุมหมู่บ้านในพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload) วงเงิน 13,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน รวมถึงการจัดให้มีจุดให้บริการอินเตอร์เน็ตแบบไร้สายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการ ที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10 Mbps (Download/Upload)
สำหรับพื้นที่ดำเนินการ กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงาน กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน โดยภาพรวมในประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีบริการและมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 30,635 หมู่บ้าน พื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์และยังไม่มีบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง 40,432 หมู่บ้าน ซึ่งในจำนวนนี้ ทีโอที จะเป็นผู้ดำเนินการ 24,700 หมู่บ้าน และสำนักงาน กสทช. ดำเนินการ 15,732 หมู่บ้าน รวมทั้งมีพื้นที่ที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ไม่มีบริการและยากต่อการเข้าถึงอีกจำนวน 3,920 หมู่บ้าน และทั้งหมด คือแผนติดตั้งโครงการขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560