กรมชลประทานเผยมีพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ 8 จังหวัด

06 ม.ค. 2560 | 05:56 น.
สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ยังน่าห่วง กรมชลประทานเผยมีพื้นที่น้ำท่วม 8 จังหวัด ระดมเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมทะเลอันดามันกำลังเคลื่อนตัวทางเหนืออย่างช้าๆ มีทิศทางเข้าใกล้ประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 59 ต่อเนื่องมาถึงวันที่ 5 ม.ค. 60 โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 8 จังหวัด ดังนี้

จังหวัดชุมพร เกิดฝนตกหนักช่วงวันที่ 3 - 5 ม.ค. 60 มีปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อำเภอละแม อำเภอทุ่งตะโก อำเภอสวี อำเภอเมือง และอำเภอหลังสวน วัดได้ 474 มิลลิเมตร 426 มิลลิเมตร 320 มิลลิเมตร 231 มิลลิเมตร และ 140 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่งผลทำให้ท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำและเอ่อล้นริมตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง บางช่วงของคลองละแม คลองหลังสวน คลองตะโก คลองสวี และเข้าท่วมเขตเทศบาลเมืองหลังสวน มีระดับน้ำสูงประมาณ 0.50 – 0.70 ม. หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าปกติภายใน 2 – 3 วัน โครงการชลประทานชุมพร สำนักงานชลประทานที่ 14 ได้เตรียมพร้อมสนับเครื่องสูบน้ำ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 13 เครื่อง และขนาด 4 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง

จังหวัดสุราษฏร์ธานี เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 60 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 5 ม.ค. 60 วัดปริมาณฝนสะสม ได้ที่ฝายคลองไชยา 302 มิลลิเมตร ฝายคลองท่าทอง 246 มิลลิเมตร ฝายคลองเทวดา 88 มิลลิเมตร และที่โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานี วัดได้ 89 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากมีน้ำท่วมฉับพลัน เข้าท่วมพื้นราบลุ่ม พื้นลุ่มต่ำริมลำน้ำสาธารณะ และเอ่อล้นตลิ่งในที่ราบลุ่มต่ำ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกาญจนดิษฐ์ อำเภอดอนสัก อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเมือง อำเภอไชยา อำเภอท่าชนะ อำเภอเกาะสมุย และอำเภอเกาะพงัน ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และเส้นทางคมนาคม

ปัจจุบันสภาพน้ำท่าในลำน้ำสายหลัก แม่น้ำตาปี ที่สถานี X37A บริเวณอำเภอพระแสง มีระดับ 9.70 เมตร  ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 1.06 เมตร สถานี X.217 ที่อำเภอเคียนซา มีระดับ 2.69 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 1.31 เมตร และสถานี X.5C ที่อำเภอพุนพิน มีระดับ 1.34 เมตร ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ 0.46 เมตร และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าอีกประมาณ 2 วัน น้ำจะเริ่มท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำของอำเภอพระแสง ส่วนอำเภอพุนพินระดับน้ำยังคงขึ้นลงตามอิทธิพลของน้ำทะเล โครงการชลประทานสุราษฎร์ธานีได้แจ้งเตือน ราษฎร์ที่อยู่ท้ายฝายคลองไชยา โดยเฉพาะเทศบาลตลาดไชยา เทศบาลเวียงและอำเภอไชยาให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมแล้ว

จังหวัดตรัง เกิดฝนตกหนักบริเวณอำเภอนาโยงติดต่อเทือกเขาบรรทัด ทำให้ระดับน้ำในคลองนางน้อยและแม่น้ำตรังตอนบนเพิ่มสูงขึ้น โดยในพื้นที่ของคลองนางน้อยตอนบนบริเวณอำเภอนาโยง ระดับน้ำได้ลดลงเข้าปกติแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำจะไหลลงสู่ลำน้ำสายหลัก ปัจจุบันระดับน้ำในลำน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งมากกว่า 1 เมตร ไม่มีผลกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจ สำหรับแม่น้ำตรังตอนบนมีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณอำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ และอำเภอเมือง ปริมาณน้ำจะไหลไปถึงอำเภอเมืองตรัง และเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำตรัง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าปกติภายใน     1 - 2 วัน เนื่องจากมีน้ำทะเลหนุน โครงการชลประทานตรัง สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง   พร้อมทั้งได้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและรายงานสถานการณ์น้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อทราบ และเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำเพิ่มเต็ม เป็นเครื่องขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง รวมไปถึงรถขุด 1 คัน และรถบรรทุกอีก 1 คัน

จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนักช่วงวันที่ 3 - 5 ม.ค. 60 มีปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อำเภอนาบอน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมือง อำเภอท่าศาลา อำเภอชะอวด และอำเภอลานสกา และ วัดได้ 438 มิลลิเมตร 472 มิลลิเมตร 700 มิลลิเมตร 496 มิลลิเมตร 465 มิลลิเมตร และ 407 มิลลิเมตร ตามลำดับ ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอหัวไทร ระดับน้ำสูงประมาณ 0.70 – 1.20 เมตร ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอช้างกลาง อำเภอท่าศาลาอำเภอนบพิตำ อำเภอพิปูน อำเภอฉวาง อำเภอทุ่งสง อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล  ระดับน้ำท่วมสูงโดยเฉลี่ย 0.20–0.70 เมตร

ส่วนในเขตเทศบาลนครศรีธรรมราช เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากต้นเขาคีรีวงลงสู่คลองท่าดีมีปริมาณมาก ประกอบและในพื้นที่ของตัวเมืองนครศรีธรรมราชก็มีฝนตกเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในคลองระบายน้ำของตัวเมืองสูงขึ้น และจะไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในวันนี้ประมาณ 20.00 น. หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าปกติภายใน 4 - 6 วัน สำนักงานชลประทานที่ 15 ได้สนับสนุนเครื่องจักร เครื่องมือในการเร่งระบายน้ำ โดยในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีเครื่องสูบน้ำ 45 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 44 เครื่อง และรถขุดอีก 10 คัน เข้าปฏิบัติงานขุดลอกเปิดทางน้ำและกำจัดวัชพืช ส่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ได้ส่งเครื่องสูบน้ำ 27 เครื่อง เข้าไปช่วยเหลือเร่งระบายน้ำตามพื้นที่ต่างๆ อาทิ เทศบาลนครศรีธรรมราช 24 เครื่อง อำเภอทุ่งสงจำนวน 2 เครื่อง และอำเภอท่าศาลาจำนวน 1 เครื่อง รวมไปถึงเครื่องผลักดันน้ำอีก 8 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วต่อไป

จังหวัดพัทลุง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรวมทั้งจังหวัด (2 - 5 ม.ค. ๖๐)วัดได้ 488 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 7 อำเภอ และบางส่วนที่อยู่ติดกับริมทะเลสาบสงขลา ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง อำเภอควนขนุน อำเภอปากพะยูน อำเภอป่าพะยอม อำเภอป่าบอน อำเภอศรีบรรพต อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอบางแก้ว อำเภอศรีนครินทร์ และอำเภอตะโหมด ระดับน้ำท่วมสูงเฉลี่ย 0.40 – 0.60 เมตร แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าปกติภายใน 1 -2 วันนี้ ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลมารวมที่ทะเลสาบสงขลาในลำดับต่อไป คาดว่าบริเวณนี้จะเข้าสู่ภาวะปกติ ภายใน 6 - 7 วัน โครงการชลประทานพัทลุง ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 5 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

จังหวัดนราธิวาส (ลุ่มน้ำโก-ลก ลุ่มน้ำบางนราและลุ่มน้ำสายบุรี) ฝนที่ตกหนักในช่วงวันที่ 3 - 5 ม.ค. 60  มีปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเมือง อำเภอบาเจาะ อำเภอแว้ง และอำเภอจะแนะ วัดได้ 222 มิลลิเมตร 204 มิลลิเมตร 155 มิลลิเมตร 86 มิลลิเมตร และ 60 มิลลิเมตรตามลำดับ ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอเมือง อำเภอระแงะ อำเภอยี่งอ อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอสุไหงปาดี และอำเภอตากใบ รวมไปถึงอำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี ระดับสูงประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 3 - 4 วัน โครงการชลประทานนราธิวาสได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง และขนาด 12  นิ้ว 4 เครื่อง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำในเขตโครงการฯ เป็นเครื่องขนาด 12 นิ้ว 5 เครื่อง พร้อมกับใช้สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าสูบระบายน้ำ จำนวน 4 สถานี เพื่อช่วยระบายน้ำในพื้นที่ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

จังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา เกิดฝนตกหนักในช่วงวันที่ 3 - 5 ม.ค. 60 วัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่อำเภอสายบุรี อำเภอไม้แก่น และอำเภอทุ่งยางแดง ได้ 223 มิลลิเมตร และ 324 มิลลิเมตร ตามลำดับ มีน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่งในเขตอำเภอเมืองปัตตานี อําเภอยะหาและอําเภอรามัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 -2 วันนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปัตตานี ได้ดำเนินการขุดลอกกำจัดผักตบชวา หน้าประตูระบายน้ำตุยงและบริเวณด้านท้าย เพื่อช่วยในการระบายน้ำให้รวดเร็วขึ้นแล้ว และยังได้ร่วมกับทางจังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่นบูรณาการเร่งระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ปัจจุบันระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว

อนึ่ง ปริมาณน้ำที่ท่วมในแต่ละจังหวัดของภาคใต้จะไหลลงสู่ลำน้ำและไหลลงทะเลในเขตจังหวัดนั้นๆ โดยจะไม่ส่งผลกระทบกับจังหวัดใกล้เคียง ยกเว้นลุ่มน้ำสายบุรีที่น้ำจะไหลจากจังหวัดนราธิวาสไปลงจังหวัดปัตตานี และลุ่มน้ำปัตตานี ที่น้ำจะไหลจากจังหวัดยะลาไปลงจังหวัดปัตตานี

สำหรับเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ในปัจจุบันมีเพียงพอที่จะสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหากมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน จะได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ จากส่วนกลางลงไปสนับสนุนการระบายน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพกระทรวงเกษตรและสหกรณ์